กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศให้เพิ่มเงินสกุลหยวนของจีน เข้าเป็น 1 ใน 5 เงินสกุลหลักของโลกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันชาติจีน ทำให้เงินหยวนเป็นส่วนหนึ่งในตะกร้าหน่วยสิทธิเบิกถอนพิเศษ หรือ Special Drawing Rights (SDR) ในสัดส่วนร้อยละ 10.92 เทียบชั้นกับสกุลเงินชั้นนำอื่นของโลกอย่าง ดอลลาร์สหรัฐ, ปอนด์, ยูโร และเยน ส่งผลให้เงินหยวน เป็นสกุลเงินที่ใช้ได้อย่างเสรี ได้รับการยอมรับให้สามารถชำระหนี้ได้ในนานาประเทศและมีการซื้อ-ขายกันอย่างกว้างขวางในตลาดเงินตรา ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของจีนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
- แล้วทำไมดอลลาร์ถึงอ่อนค่ารุนแรงรอบนี้
นอกเหนือจากเศรษฐกิจที่ปรับลดลงรุนแรงอันเป็นผลมาจากวิกฤติ COVID-19 สิ่งที่เกิดขึ้นคือมาตรการอัดฉีดเงินของสหรัฐในรอบนี้ ทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนอย่างมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 20% ของปริมาณเงินที่มีอยู่จาก 15.5 เป็น 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานปกติเลยว่าเมื่อปริมาณเงินเพิ่มขึ้น ค่าของเงินก็ปรับลดลง การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินนี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงในรอบนี้
การจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นนอกจากการอัดฉีดด้วยนโยบายการเงิน การคลังแล้ว ค่าเงินที่อ่อนตัวก็มีส่วนช่วยสนับสนุนเช่นกันเพราะทำให้มูลค่าการส่งออกสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่ถูกลง รวมถึงสนับสนุนให้ต่างชาติมาท่องเที่ยวเพราะค่าเงินของประเทศถูกลง ผู้เขียนจึงมองว่าการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นมาจากเจตนาของสหรัฐเอง ซึ่งทำผ่านการพิมพ์เงินเพิ่มปริมาณเงินในระบบเป็นอย่างมากให้ค่าเงินอ่อนลง เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ดอลลาร์อ่อนค่าส่งผลต่อสินทรัพย์ลงทุนอย่างไร ในช่วงเศรษฐกิจขาลง
ในภาวะเศรษฐกิจปกติถ้าเงินดอลลาร์อ่อนค่าจะมาจากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐที่ลดลง ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนไหลออกไปลงในสินทรัพย์ของภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป หรือเอเชีย เพราะนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนจากค่าเงินของประเทศอื่นที่แข็งค่าขึ้น ควบคู่ไปกับผลตอบแทนจากการลงทุน