ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในชีวมณฑล (Biosphere) หรือระบบนิเวศของโลก ซึ่งสร้างปฏิสัมพันธ์ที่แสนสลับซับซ้อนระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยที่มนุษย์ยังได้รับผลประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลจากความสัมพันธ์ดังกล่าว
ความหมายและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
1. ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ
เกษม จันทร์แก้ว ให้ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ (natural resources) ว่าหมายถึง “สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”
ชัยศรี ธาราสวัสดิ์พิพัฒน์ ให้ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ ว่าหมายถึง “สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีประโยชน์สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้ หรือมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น บรรยากาศ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า แร่ธาตุ พลังงาน รวมทั้งกำลังจากมนุษย์ด้วย”
จากความหมายที่กล่าวมา สรุปได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น และมีประโยชน์ต่อมนุษย์”
2. ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
จากความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ” นั้นคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ดังนั้นทรัพยากรธรรมชาติจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.) ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งของปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ คือ
1.1) เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งวัตถุดิบในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย มนุษย์นำไม้ หิน ทราย มาก่อสร้างบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ
1.2) เป็นแหล่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็น พืช สัตว์
1.3) เป็นแหล่งที่มาเครื่องนุ่มห่ม ในอดีตมนุษย์ใช้ใบไม้เป็นเครื่องปกปิดร่างกาย ในปัจจุบันนำเส้นใยจากธรรมชาติ เช่น เส้นใหม ฝ้าย มาถักทอเป็นเสื้อผ้าปกปิดร่างกาย
1.4) เป็นแหล่งที่มาของยารักษาโรค วิวัฒนาการจากการเก็บส่วนต่าง ๆ ทั้งของพืช และสัตว์มารักษาโรค ที่รู้จักกันในชื่อของ “สมุนไพร” ต่อมาก็ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นมาเปลี่ยนสมุนไพรเป็นยาแผนปัจจุบัน ในประเทศไทยมีพืชที่สามารถใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคในท้องถิ่นมากกว่า 779 ชนิด (สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2543)
2.) เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นขาดไม่ได้ ได้แก่ อากาศ น้ำ
3.) เป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิต หรือเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม เช่น การผลิตกระดาษต้องใช้เยื่อไม้ น้ำ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นวัตถุดิบ
4.) ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ บ่งชี้ถึงความเจริญทางเศรษฐกิจ และความเจริญของสังคมมนุษย์
5.) มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรง เช่น ทรัพยากรพลังงาน แร่ อัญมณีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือโดยทางอ้อม เช่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ นำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ
6.) มีความสำคัญด้านวิชาการ ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์
7.) มีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทั้งระบบนิเวศบนบก ระบบนิเวศทางน้ำ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติประเภทป่าไม้มีประโยชน์ต่อองค์ประกอบของผู้ผลิตที่ต้องสร้างอาหารเลี้ยงสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ เป็นต้น
8.) มีความสำคัญต่อการหมุนเวียน หรือวัฏจักรของแร่ธาตุและสารอาหารในระบบนิเวศ
ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากร เป็น 1 ใน 4 ของมิติทางสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรแบ่งเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ” และทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น ทรัพยากรธรรมชาติมีมากกมายหลายชนิด หลายประเภท สามารถแบ่งตามการนำมาใช้งานทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource)
สามารถแบ่งตามการนำมาใช้งานและผลที่เกิดขึ้นได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมด
ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดหรือไม่สูญหาย (inexhaustible natural resources) ทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ ได้แก่ บรรยากาศ น้ำในวัฎจักร แสงอาทิตย์ เป็นต้น ลักษณะของทรัพยากรธรรมชาติในประเภทนี้ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
1.1 บรรยากาศ (atmosphere) ในบรรยากาศประกอบไปด้วยอากาศซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมีชีวิต นอกจากนั้นยังมีความชื้น อุณหภูมิ และการเคลื่อนไหวของมวลอากาศ รวมเรียกว่า “ภูมิอากาศ (climate)” ซึ่งมีความสำคัญต่อลักษณะของดิน พืชพันธุ์ และสภาพอื่น ๆ ของสิ่งมีชีวิตบนพื้นผิวโลก ดังนั้นบรรยากาศจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ บรรยากาศจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงจัดบรรยากาศอยู่ในทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไม่หมด
1.2 น้ำที่อยู่ในวัฎจักร (water in cycle) น้ำที่อยู่ในวัฎจักรจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปจากสภาพหนึ่งไปเป็นอีกสภาพหนึ่งเรื่อยไปโดยไม่มีสิ้นสุด เช่น จากฝน หิมะ ลูกเห็บตกลงสู่พื้นดิน บางส่วนระเหยกลับไปสู่บรรยากาศ บางส่วนไหลซึมลึกลงไปเป็นน้ำใต้ดิน บางส่วนไหลไปตามพื้นผิวดินลงสู่แม่น้ำลำคลองออกสู่ทะเลมหาสมุทร และกลับระเหยกลายเป็นไอน้ำอยู่ในบรรยากาศและจับตัวเป็นก้อนเมฆตกลงมาเป็นฝนอีก การหมุนเวียนของน้ำแบบนี้จึงไม่มีที่สิ้นสุด มีอยู่ตลอดไป
2. ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้
ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้หรือรักษาไว้ได้ (replaceable and maintainable natural resources) แบ่งได้ดังนี้
2.1 น้ำที่อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง (water in place) หมายถึง น้ำที่อยู่ในที่เฉพาะแห่ง เช่น น้ำในภาชนะ น้ำในเขื่อน เมื่อใช่ไปเรื่อย ๆ ปริมาณจะลดลง แต่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นได้เมื่อเกิดฝนตก น้ำที่อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งเมื่อใช้แล้วก็จะหมดไป แต่สามารถที่จะหามาทดแทนใหม่ได้
2.2 ดิน (soil) หมายถึง เนื้อดินที่เป็นที่อยู่อาศัยของพืช เป็นแหล่งสะสมแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช เพราะเหตุที่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ส่วนมากมาจากพืชซึ่งเจริญเติบโตมาจากดินหรือได้จากสัตว์ซึ่งกินพืช ดินจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต แต่ดินเกิดทดแทนตามธรรมชาติได้ช้ามาก กว่าจะได้เนื้อดินหนา 1 นิ้ว ธรรมชาติต้องใช้เวลาสร้างถึง 100 ปี 1,000 ปี เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตามถึงดินจะเกิดได้ช้าแต่มนุษย์ก็สามารถดูแลรักษาดินให้คงมีคุณภาพเหมือนเดิมได้โดยการใส่ปุ๋ยหรือการใช้ประโยชน์จากดินอย่างถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ เพราะฉะนั้นลักษณะสมบัติของดินในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติแล้วจัดเป็นประเภทที่สามารถรักษาให้คงอยู่ได้ (maintainable) มากกว่าการเกิดขึ้นทดแทน (replaceable)
2.3 ป่าไม้ (forest) ทรัพยากรป่าไม้นับว่ามีความสำคัญมากในแง่ของการอนุรักษ์ดิน น้ำ และสัตว์ป่า ซึ่งอำนวยประโยชน์ให้มนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากป่าไม้สามารถขึ้น ทดแทนโดยธรรมชาติ หรือการปลูกให้เป็นป่ามาใหม่ได้ ป่าไม้จึงถูกจัดอยู่ในทรัพยากรธรรมชาติพวกที่เกิดขึ้นทดแทนและรักษาให้คงอยู่ได้
2.4 ทุ่งหญ้า (rangeland) หมายถึง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่ส่วนใหญ่มีพืชวงศ์หญ้า และพืชพันธุ์อื่นๆ ขึ้นอยู่เองตามธรรมชาติ มักเป็นที่ที่มีฝนตกน้อย ใช้เป็นที่หากินของสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เป็นที่เหมาะแก่การดำเนินการจัดการโดยอาศัยพื้นฐานทางนิเวศวิทยามากกว่าพื้นฐานทางการเกษตร และใช้ประโยชน์แบบเอนกประสงค์ทุ่งหญ้าเช่นเดียวกับป่าไม้ จัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทดแทน และรักษาให้คงอยู่ได้
2.5 สัตว์ป่า (wildlife)
2.6 ทรัพยากรกำลังงานมนุษย์ (human resources) กำลังงานมนุษย์จัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภทหนึ่ง มนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติและต่อสังคม โดยอาศัยกำลังงานที่มีอยู่ในตัวมนุษย์และกำลังที่ว่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กำลังงานมนุษย์แบ่งออกได้เป็น 2 ทางคือ กำลังงานทางร่ายกายและกำลังทางจิต (body and spirit) กำลังงานทางร่างกาย ได้แก่ ความแข็งแรงของร่างกาย ส่วนกำลังทางจิต ได้แก่ การนึกคิดและการใช้เหตุผล การจินตนาการ ถ้ามนุษย์มีความเป็นอยู่ดี มีการศึกษา อนามัยดี มีความรู้ ความชำนาญและประกอบการงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือรู้จักใช้ทรัพยากรอื่น ๆ อย่างชาญฉลาดแล้วย่อมทำให้กำลังงานที่ต้องสูญเปล่าลดน้อยลงและสามารถใช้กำลังงานให้เป็นประโยชน์แก่งานในทุก ๆ ด้านได้อย่างเต็มที่ กำลังงานมนุษย์จึงเป็นทรัพยากรที่ควรจะได้มีการอนุรักษ์และจัดการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม
มนุษย์นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในการดำรงชีวิตและพัฒนาความเป็นอยู่ของตนเอง เช่น
- แหล่งอาหาร น้ำและยารักษาโลก (Food and Medicine) รวมไปถึงผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรทางทะเล เช่น ปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม ธัญพืช สมุนไพร และน้ำสะอาดที่ถูกใช้ในการอุปโภคบริโภคของมนุษย์
- ที่อยู่อาศัย (Housing and infrastructure) ไม่ว่าจะเป็นตึก อาคาร บ้านเรือน ถนน และสะพานต่างๆ ล้วนสร้างขึ้นจากการนำวัตถุดิบหรือทรัพยากรทางธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เช่น ไม้ เหล็ก กระจก และพลาสติก
- การเดินทาง (Mobility) ทั้งบนบก ในน้ำ หรือในอากาศ ล้วนเกิดขึ้นจากการนำพลังงานธรรมชาติมาใช้ พลังงานจากการแปรรูปของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel)
ขอบคุณข้อมูล http://www.digitalschool.club/