ทุกวันเพ็ญเดือนยี่ (เดือนสอง) ของล้านนา ภาพโคมนับร้อย ๆ ดวงค่อย ๆ ลอยละลิ่วส่องแสงสว่างเจิดจ้าอยู่บนท้องฟ้าเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนั่นเป็นสัญลักษณ์ของ “ประเพณียี่เป็ง” หรือประเพณีเดือนยี่ หรือประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา ซึ่งประเพณีนี้งดงามจนใครที่อยากไปสัมผัสกับความตระการตาเหล่านี้สักครั้ง
ในภาษาคำเมืองของทางเหนือ “ยี่” แปลว่า สอง และคำว่า “เป็ง” หมายถึง เพ็ญ หรือพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น จึงหมายถึง ประเพณีพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสอง โดยในพงศาวดารโยนกและจามเทวี มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย (หรือหริภุญชัย) ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดี นานถึง 6 ปี จึงจะเดินทางกลับมายังบ้านเมืองเดิมได้ เมื่อเวลาเวียนมาถึงวันที่จากบ้านจากเมืองไป จึงได้มีการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชา ธูปเทียนลอย ลอยตามน้ำเพื่อให้ไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป เรียกว่า การลอยโขมด หรือลอยไฟ
ประเพณียี่เป็ง จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น “วันดา” หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้นถึงวันขึ้น 14 ค่ำ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยและผู้มีศรัทธาก็จะพากันไปถือศีลฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด มีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาของมาร่วมสมทบด้วยก็ได้ เพื่อเป็นทานแก่คนยากจน และในวันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ของส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ
ในงานบุญยี่เป็ง ยังมีการเทศน์มหาชาติ ผู้คนจะออกมาตกแต่งบ้านเรือน วัดวาอาราม และถนนหนทาง ด้วยต้นกล้วย อ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุงช่อประทีปและชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา ยามค่ำคืนจะมีการจุดโคมลอย ปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์ จุดเด่นของงานนี้อยู่ที่การปล่อย โคมลอย ขึ้นไปในท้องฟ้า โดยเชื่อกันว่า เปลวไฟในโคมเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ และแสงสว่างที่ได้รับจากโคม จะส่งผลให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง
โคมลอย นิยมลอยกันในเทศกาลลอยกระทง ทางภาคเหนือเรียกว่าประเพณี ยี่เป็ง เป็นประเพณีลอยกระทงของชาวล้านนา ซึ่งหมายถึงวันเพ็ญเดือน 2 เป็นการนับเดือนตามจันทรคติ โดยคำว่า ยี่เป็ง เป็นภาษาเหนือ ยี่ แปลว่า สอง และคำว่า เป็ง ตรงกับคำว่า เพ็ง หรือ เพ็ญ หมายถึงพระจันทร์เต็มดวง คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 2 นั่นเอง
โคมลอย ที่คนท้องถิ่นล้านนาส่วนใหญ่เรียกติดปากว่า ว่าว สามารถแบ่งย่อยได้สองประเภท ได้แก่ โคมลอยกลางวัน (ว่าวโฮม-ว่าวควัน) กับ โคมลอยกลางคืน (ว่าวไฟ) นอกจากนี้ยังมีโคมแขวน ที่จัดเป็นโคมอีกชนิดเช่นกันเพียงแต่ใช้แขวนตามบ้านเรือนไม่ได้ใช้ลอยโดยโคมที่ใช้ลอยกลางวันนั้น จะใช้กระดาษที่มีสีสันจำนวนหลายสิบแผ่นในการทำ เพื่อให้เห็นในระยะทางไกลแม้จะอยู่บนท้องฟ้า จะมีการตกแต่งด้วยการใส่หาง หรือขณะที่ทำการปล่อยมักใส่ลูกเล่นต่างๆเข้าไปด้วย เช่น ใส่ประทัด ควันสี เครื่องบินเล็ก ตุ๊กตากระโดดร่ม เป็นต้น บางท้องที่นิยมใส่เงินลอยขึ้นไปอีกด้วย วิธีการปล่อยจะต้องใช้การรมควันให้เต็มโคม เมื่อได้ที่แล้วจึงปล่อย
ในงานบุญยี่เป็งนอกจากจะมีการปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์มหาชาติตามวัดวาอารามต่าง ๆ แล้ว ยังมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา พอตกกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทองพร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะติ๊ด) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งการจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามความเชื่อการปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอยนี้ เพื่อให้นำเอาเคราะห์ร้าย ภัยพิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้น ว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปถ้าไปตกในบ้านใคร บ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านอีกด้วย