นับว่าเป็นเวลานานกว่าทศวรรษแล้วที่นักดาราศาสตร์ได้มีการค้นพบแถบไคเปอร์ ซึ่งแถบไคเปอร์เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุริยะ และอยู่บริเวณขอบรอบนอกเลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป ประกอบด้วยวัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อยที่มีน้ำแข็งมากคล้ายหัวดาวหาง ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ได้พบวัตถุแถบไคเปอร์มาแล้วกว่า 700 ดวง และพบว่าขอบเขตของแถบไคเปอร์ด้านนอกอยู่ที่ประมาณ 50 หน่วยดาราศาสตร์จากดวงอาทิตย์ พ้นขอบเขตนี้ไปแทบไม่มีวัตถุแถบไคเปอร์อยู่เลย หรือถ้ามีก็ขนาดเล็กมากกว่า 200 กิโลเมตร
วัตถุในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt Objects)
เป็นบริเวณที่อยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป ที่ด้านนอกระบบสุริยะรอบนอก มีบริเวณกว้าง 3,500 ล้านไมล์ มีก้อนวัตถุแข็ง เป็นน้ำแข็งขนาดเล็กจำนวนมากโคจรรอบดวงอาทิตย์ ลักษณะคล้ายกับแถบดาวเคราะห์น้อย ที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี วัตถุที่อยู่ในแถบไคเปอร์ มีชื่อเรียกว่า วัตถุในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt Object – KBO) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วัตถุพ้นดาวเนปจูน (Trans-Neptunian Object – TNO) ซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง เชื่อกันว่าก้อนน้ำแข็งเหล่านี้ เป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางคาบสั้น โดยชื่อแถบไคเปอร์นี้ ได้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ เจอราร์ด ไคเปอร์ ผู้ค้นพบ
เดิมทีวัตถุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกค้นพบในแถบไคเปอร์ คือ ดาวพลูโต ซึ่งถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2473 ส่วนก้อนน้ำแข็งอื่นๆ นั้นมีแสงริบหรี่และมองหายาก จึงถูกค้นพบในเวลาต่อมา ดวงแรกที่ค้นพบ คือ 1992 QB1 เมื่อ พ.ศ. 2535 และใน พ.ศ. 2548 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบวัตถุในบริเวณนี้ดวงหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่า 2003UB313 โดยมีขนาดใกล้เคียงกับพลูโต และนำไปสู่การถกเถียงในหมู่นักดาราศาสตร์ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลจึงลงมติปลดพลูโตจากการเป็นดาวเคราะห์มาเป็นดาวเคราะห์แคระ และวัตถุที่มาของความขัดแย้งนี้ก็ได้ชื่อเป็นทางการว่า เอริส (Eris) ต่อมาในต้น พ.ศ. 2550 นักดาราศาสตร์ก็ยืนยันขนาดของเอริสว่ามีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อย โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2400 กิโลเมตร
แถบไคเปอร์จะอยู่ในระนาบของสุริยะวิถี โดยมีระยะห่างออกไปตั้งแต่ 40 – 500 AU (AU ย่อมาจาก Astronomical Unit หรือ หน่วยดาราศาสตร์ เท่ากับระยะทางระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ หรือ 150 ล้านกิโลเมตร) ปัจจุบันมีการค้นพบวัตถุในแถบไคเปอร์แล้วมากกว่า 35,000 ดวง
ขอบคุณข้อมูล https://www.scimath.org/