Dec92020ข่าวสาร เกร็ดความรู้ทั่วไปคลังความรู้ ม.ปลายชีววิทยาหน้าที่ของระบบประสาท การทำงานของระบบประสาท การทำงานของระบบประสาท ประกอบด้วย สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทในร่างกายและอวัยวะรับความรู้สึก ทำหน้าที่ร่วมกันในการรับความรู้สึกของอวัยวะต่าง ๆและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รู้สึกเย็น ร้อน เจ็บ คัน ปวด แสบ ควบคุมการทำงานของร่างกาย ตลอดจนความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ ความทรงจำต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ระบบประสาทส่วนกลาง 2. ระบบประสาทส่วนปลาย 3. ระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบประสาทส่วนกลาง ประกอบด้วย สมอง และไขสันหลัง เป็นศูนย์กลางควบคุมและประสานงานการทำงานของร่างกายทั้งหมด 1. สมอง (Brain) สมองของคนมีน้ำหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม บรรจุอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งป้องกันสมองไม่ให้ ได้รับการกระทบกระเทือน สมองประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากกว่าร้อยละ 90 ของเซลล์ประสาททั้งหมดในร่างกาย โดยมีเซลล์ประสาทประสานงานเป็นส่วน ทำหน้าที่ควบคุมการทำกิจกรรมทั้งหมดของร่างกาย เป็นอวัยวะชนิดเดียวที่แสดงความสามารถด้านสติปัญญาการทำกิจกรรมหรือการแสดงออกต่าง ๆ และยังมีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว, พฤติกรรม และรักษาสมดุลภายในร่างกาย (Homeostasis) เจริญสูงสุดภายใน 5 ปีแรก แบ่งออกเป็น 2 ชั้น สมองชั้นนอก เรียกว่าเนื้อเทา Gray matter และสมองชั้นในเรียกว่าเนื้อขาว White matter สมองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1.1 สมองส่วนหน้า (Forebrain) ประกอบด้วย 1.1.1 ซีรีบรัม (Cerebrum) เป็นส่วนของสมองที่อยู่บนสุดของศีรษะ มีรูปร่างเป็นพูย้อย ตั้งแต่หน้าผากไปตามรูปของกะโหลกศีรษะจนถึงบริเวณท้ายทอย มีขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 80% ของสมองทั้งหมด เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในการควบคุมพฤติกรรมการเรียนรู้ ความจำ การวิเคราะห์ การใช้เหตุผล ไหวพริบ การได้ยิน การรับรส 1.1.2 ทาลามัส (Thalamus) เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากสมองแท้ลงมา ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับกระแสประสาทความรู้สึกที่ถูกส่งมาจากอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเข้าสู่ไขสันหลัง ผ่านก้านสมอง (Medulla oblongata) พอนส์ และสมองส่วนกลาง (Midbrain) ตามลำดับ เป็นศูนย์รับและถ่ายทอดความรู้สึกไปยังซีรีบรัมทาลามัสยังทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กแรกเกิดในขณะที่สมองแท้ยังทำงานได้ไม่เต็มที่อีกด้วย 1.1.3 ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความสมดุลให้กับระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ควบคุมการทำงานของต่อมพิทูอิทารี รักษาระดับความสมดุลของอุณหภูมิร่างกาย การหายใจ การหลับ การตื่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลในการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมแรงขับ (Drive) ต่าง ๆ เช่น ความหิว ความกระหายความต้องการทางเพศ เป็นต้น ความสำคัญของไฮโปทาลามัสนี้เองบางครั้งจึงได้รับสมญาว่าผู้พิทักษ์ร่างกาย (Guardian of body) 1.2 สมองส่วนกลาง (Midbrain) อยู่ถัดจากสมองส่วนหน้ามีขนาดเล็ก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น การได้ยิน และการสัมผัส 1.3 สมองส่วนท้าย (Hindbrain) ประกอบด้วย 1.3.1 เซรีเบลลัม (Cerebellum) คือ สมองส่วนท้าย เป็นส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและการทรงตัวช่วยให้เคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำเช่น การเดิน การวิ่ง การขี่รถจักรยาน 1.3.2 พอนส์ (Pons) เป็นส่วนที่อยู่ถัดลงมาจากสมองส่วนกลาง ด้านขวาของพอนส์จะอยู่ติดกับ สมองเล็ก (cerebellum) โดยมีใยประสาทเป็นตัวเชื่อม จึงทำให้พอนส์เป็นทางผ่านของกระแสประสาทที่มาจากส่วนล่างเข้าสู่สมองแท้และสมองเล็ก เพื่อให้เกิดการประสานงานกันระหว่างสมองทั้งสองชนิด เช่น สามารถเคลื่อนไหวได้พร้อมกับการทรงตัวที่ดี การเคี้ยวอาหาร หารหลั่งน้ำลาย การหายใจ การฟัง 1.3.3 เมดัลลาออบลองกาตา (Medulla Oblongata) คือ ส่วนที่อยู่ติดกับไขสันหลัง ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การหายใจการเต้นของหัวใจ การไอ การจาม การกะพริบตา ความดันเลือด 2. ไขสันหลัง (Spinal cord) เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากสมองส่วนปลายมีจุดตั้งต้นมาจากบริเวณ base of skull ลงมาตามกระดูกสันหลัง (Vertebral column) มีความยาวประมาณ 42-45 ซม. มีเส้นประสาทไขสันหลัง (Spinal nerve) จำนวน 31 คู่ออกจากไขสันหลัง หน้าที่ของไขสันหลัง 1. เป็นศูนย์กลางของ Spinal reflex 2. ตำแหน่งแรกที่รับสัญญาณประสาทจากระบบรับความรู้สึกเพื่อที่จะนำส่งต่อไปยังสมอง 3. เป็นตำแหน่งที่สิ้นสุดของสัญญาณประสาทที่มาจากระบบประสาท Motor เนื่องจากมี Anterior motor neurons ที่จะเป็นเซลล์ประสาทที่รับคำสั่งจาก Corticospinal tract และสั่งการไปยังเซลล์กล้ามเนื้อ 4. เป็นทางเดินของกระแสประสาทที่ติดต่อระหว่างไขสันหลังและสมอง 5. เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทออโตโนมิก (autonomic nervous system) Reflex เป็นกลไกการตอบสนองที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากถูกกระตุ้น เกิดได้เนื่องจากมี Synapse ของ Sensory และ Motor Neuron โดยตรง Spinal reflex ระบบประสาทส่วนปลายประกอบด้วย 1. Sensory-somatic Nervous System ประกอบไปด้วย เส้นประสาทสมอง 12 คู่ และเส้นประสาทสันหลัง 31 คู่ – Cranial Nerve เส้นประสาทสมองทั้ง 12 คู่นั้นมีหน้าที่ในการรับความรู้สึกและการ เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ในปากและคอ เส้นประสาทสมองบางคู่มีเฉพาะส่วนที่เป็น Sensory บางคู่ก็เป็น motor อย่างเดียว และมีบางคู่เป็นแบบผสม – Spinal Nerves เส้นประสาทสันหลังทุกเส้นประกอบไปด้วยส่วนที่เป็น Sensory และ Motor ซึ่งจะทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ 2. Autonomic nervous system เป็นการควบคุมการทำงานของร่างกายที่อยู่ภายนอกจิตใจ ประกอบไปด้วยทั้งส่วนที่เป็น sensory และ motor ซึ่งวิ่งระหว่าสมองส่วนกลาง (บริเวณ hypothalamus และ meduula oblongata) และอวัยวะภายในต่างๆเช่น หัวใจ ปอด กระเพาะ เป็นต้น แบ่งเป็น 2 ระบบคือ sympathetic และ parasympathetic nervous system ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้จะสั่งงานตรงข้ามกันในแต่ละอวัยวะ – Sympathetic Nervous System จะถูกกระตุ้นในกรณีฉุกเฉิน ผลจากการกระตุ้นเช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น เลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น การย่อยอาหารลดลง – Parasympathetic Nervous System ผลจากการกระตุ้นระบบนี้ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับการกระตุ้น sympathetic ผลการออกฤทธิ์เช่น หัวใจเต้นช้าลง ลำไส้ทำงานมากขึ้น อาการที่บ่งชี้ว่ามีความผิดปรกติของระบบประสาท อาการที่ผู้ป่วยมีขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรค เช่น 1. ปวดศีรษะ 2. กล้ามเนื้ออ่อนแรง 3. ชา 4. ซึม หรือหมดสติ 5. ชัก โรคหรือภาวะผิดปกติของระบบประสาท การบาดเจ็บของระบบประสาท เช่นได้รับอุบัติเหตุทำให้เกิดอันตรายต่อสมองไขสันหลัง และเส้นประสาท ผลกระทบที่เกิดขึ้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บและความรุนแรง ผู้ป่วยอาจเกิดอัมพาต หรือไม่รู้สติเป็นเจ้าหญิงนิทรา โรคหลอดเลือดสมอง อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบทำให้เกิดการตายของเนื้อสมอง หรือหลอดเลือดในสมองแตกทำให้มีก้อนเลือดในสมอง อาการของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยโรค ผู้ป่วยมักจะเกิดอัมพาตครึ่งซีก ภาวะนี้เกิดในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคติดเชื้อของระบบประสาทกลาง เช่นโรคสมองอักเสบ การติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง ฝีในสมอง ผู้ป่วยอาจมีความผิดปรกติของการรู้สติ ชัก โรคสมองเสื่อม พบในคนชรา ผู้ป่วยมีอาการหลงลืม ความจำเสื่อม ความผิดปรกติทางเมตาโบลิก เช่นการขาดวิตามินหรือสารอาหาร ผู้ป่วยที่ขาดวิตามิน B ทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบ มีอาการชาปลายมือปลายเท้า ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็อาจมีอาการที่เกิดจากเส้นประสาทอักเสบได้เช่นกัน มะเร็งของระบบประสาท เช่น มะเร็งของสมอง หรือมะเร็งของอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาที่สมอง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือมีอาการอ่อนแรง หรืออาการผิดปรกติอื่นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยโรคอื่นๆ เช่น โรคลมชัก (Epilepsy) ไมเกรน ทำหน้าที่รับและนำความรู้สึกเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางได้แก่ สมองและไขสันหลังจากนั้นนำกระแสประสาทสั่งการจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังหน่วยปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยรับความรู้สึกและอวัยวะรับสัมผัส รวมทั้งเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่อยู่นอกระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทรอบนอกจำแนกตามลักษณะการทำงานได้ 2 แบบ ดังนี้ 1. ระบบประสาทภายใต้อำนาจจิตใจ เป็นระบบควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่บังคับได้ รวมทั้งการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก 2. ระบบประสาทนอกอำนาจจิตใจ เป็นระบบประสาทที่ทำงานโดยอัตโนมัติ มีศูนย์กลางควบคุมอยู่ในสมองและไขสันหลัง ได้แก่ – การเกิดรีเฟลกซ์แอกชัน (Reflex Action) และเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นที่อวัยวะรับสัมผัส เช่น ผิวหนัง กระแสประสาทจะส่งไปยังไขสันหลัง และไขสันหลังจะสั่งการตอบสนองไปยังกล้ามเนื้อ โดยไม่ผ่านไปที่สมอง เมื่อมีเปลวไฟมาสัมผัสที่ปลายนิ้วกระแสประสาทจะส่งไปยังไขสันหลังไม่ผ่านไปที่สมอง ไขสันหลังทำหน้าที่สั่งการให้กล้ามเนื้อที่แขนเกิดการหดตัว เพื่อดึงมือออกจากเปลวไฟทันที วิธีการสร้างเสริมและดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท การป้องกันดูแลรักษาระบบประสาท 1. ระมัดระวังและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ 2. หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด 3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำลายการทำงานของสมอง เช่น – รับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป – ไม่รับประทานอาหารเช้า – การรับประทานอาหารหวานมาก – การอยู่ในที่ที่มีมลพิษทางอากาศ เช่น สถานที่ที่มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีควันบุหรี่ ฝุ่นละอองมาก – การอดนอนบ่อย ๆ – การนอนคุมโปง – การไม่ใช้สมอง ไม่ใช้ความคิด ไม่ฝึกความจำ มีผลต่อการทำให้สมองฝ่อ 4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 5. ดูแลและถนอมการใช้สายตา 6. ดูแลการได้ยิน 7. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ 8. ถ้ามีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะมาก อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือชาตามแขนขา ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที การสร้างเสริมระบบประสาท 1. รับประทานอาหารที่บำรุงสมอง เช่น อาหารที่มีวิตามินบี 1 บี 12 โอเมกา 3 2. ฝึกสมอง กระตุ้นให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้ทำงานเชื่อมโยงกัน เช่น ปิดตาทำกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนความเคยชิน ปิดไฟในห้องแล้วใช้มือคลำทาง เพื่อกระตุ้นประสาทในส่วนสัมผัส หากิจกรรมสนุก ๆ ทำ เพื่อฝึกสมองซีกซ้ายซีกขวา Categories: ข่าวสาร เกร็ดความรู้ทั่วไป, คลังความรู้ ม.ปลาย, ชีววิทยาBy Tuemaster AdminDecember 9, 2020 Author: Tuemaster Admin ทีมงานจากเว็บไซต์ติวกวดวิชาออนไลน์ที่ดีที่สุด !! สำหรับ การเรียนออนไลน์ ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6) Post navigationPreviousPrevious post:สรรพคุณดีๆ ของ แก้วมังกรผลไม้ต้านมะเร็งNextNext post:ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้Related Postsหลักการใช้ Present Simple Tense-ภาษาอังกฤษJanuary 16, 2025หลักการใช้ Present Simple Tense อังกฤษ ม.4January 15, 2025ตรีโกณมิติ : พื้นฐานของตรีโกณมิติJanuary 14, 2025เรียนเลขออนไลน์ จํานวนเชิงซ้อน ม.5January 13, 2025เซตของจำนวนจริง และ จำนวนอตรรกยะJanuary 12, 2025ตรีโกณมิติ วงกลมหนึ่งหน่วย ในตรีโกณมิติ ม.5January 11, 2025