ปัจจุบันประชาชนบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมากขึ้น ด้วยความที่ราคาถูก หาง่ายและสะดวกสบาย อีกอย่างเพราะเชื่อว่าน้ำดื่มจากตู้แบบหยอดเหรียญมีคุณภาพเทียบเท่ากันน้ำดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท ซึ่งไม่เป็นความจริงเท่าไหร่นัก เพราะน้ำดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทจะมีการควบคุมคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้จากการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง โดยปี 2561 มีผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ร้อยละ 68.59 สูงขึ้นจากปี 2557 ที่มีเพียงร้อยละ 40.9 จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าคุณภาพน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น
ปัญหาหลักที่ทำให้คุณภาพน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ผ่านเกณฑ์ คือ ปนเปื้อนแบคทีเรีย เนื่องจากไม่มีการดูแลรักษาความสะอาด และขาดการบำรุงรักษาคุณภาพน้ำภายในตู้ เช่น ไม่ล้างไส้กรอง ไม่เปลี่ยนไส้กรอง เป็นต้น หากพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่มีคุณภาพ หรือน้ำไม่สะอาด สามารถแจ้งไปยังราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ให้เข้ามาตรวจสอบได้ และผู้ประกอบการท่านใดไม่ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการ มีความผิดฐานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม หากพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่มีคุณภาพ มีสภาพชำรุด หรือสงสัยว่าน้ำที่ได้จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้น ไม่สะอาดหรือสงสัยว่าอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สามารถแจ้งไปยังราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้เข้ามาตรวจสอบและดูแลได้ เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของราชการส่วนท้องถิ่น ในการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายการสาธารณสุข
ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตรวจสอบก่อนใช้
- ควรเลือกใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ได้มาตรฐาน โดยสังเกตสภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งภายในและภายนอก ตัวตู้จะต้องสะอาด ไม่สกปรก ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อนหรือเป็นสนิม จุดติดตั้งต้องมีความสะอาดโดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่เหมาะสม
- ต้องไม่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูล ช่องรับน้ำภายในตู้ต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิดไม่เป็นคราบสกปรก ปราศจากฝุ่นละอองและคราบอื่นใดๆ หัวจ่ายน้ำต้องเป็นวัสดุที่เหมาะสม เช่น สเตนเลส ไม่ควรเป็นท่อพลาสติกหรือสายยาง และที่สำคัญต้องสะอาดไม่เป็นตะไคร่หรือมีสิ่งสกปรกบริเวณหัวจ่ายน้ำ สังเกตสี กลิ่นและรสชาติของน้ำ จะต้องไม่ผิดปกติจากที่เคยใช้เป็นประจำ ด้านหน้าของตู้ต้องติดฉลากแสดงการแนะนำการใช้งาน รวมทั้งมีสติ๊กเกอร์การตรวจรับรองที่มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ และต้องระบุชื่อผู้ตรวจ ชื่อบริษัท วันเวลาที่มาตรวจอย่างชัดเจน
- เลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่สะอาด ปลอดภัย โดยสังเกตสติกเกอร์ของ กทม. ที่ติดข้างตู้ว่าเป็นตู้ที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถดูคำแนะวิธีการเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตาม QR Code ที่ปรากฏอยู่บนสติกเกอร์
- แหล่งที่มา
นพ.ดนัย ธีวันดา. (2560, 23 พฤษภาคม). ตู้น้ำหยอดเหรียญตรวจสอบก่อนใช้. สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2562, จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/36793-“ตู้น้ำหยอดเหรียญ”ตรวจสอบก่อนใช้%%20.html
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร. (2562, 21 เมษายน). ยังเสี่ยงตู้กดน้ำหยอดเหรียญเพาะเชื้อ-เพิ่มโรค-แลกราคาถูก. สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2562, จาก https://mgronline.com/live/detail/9620000038237
ชนฐิตา ไกรศรีกุล และ ณขวัญ ศรีอรุโณทัย. (2562, 4 กันยายน). 3 ปีผ่านไปตู้กดน้ำหยอดเหรียญยังไม่น่าไว้ใจ. สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2562, จาก https://waymagazine.org/drinking-water-2019/
- และ https://www.scimath.org