โครงสร้างของดอก
โครงสร้างของดอก
ดอกไม้ประกอบด้วยส่วนต่างๆ 4 ส่วน โดยแต่ละส่วนจะเรียงตัวจากชั้นที่อยู่นอกสุดเข้าสู่ส่วนใน คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียตามลำดับ โดยส่วนประกอบทั้ง 4 นี้จะอยู่บนฐานรองดอก ซึ่งอยู่ปลายสุดของก้านชูดอกอีกทีหนึ่ง
1. กลีบเลี้ยง (sepal) เป็นส่วนของดอกที่อยู่นอกสุด มีสีเขียว เหมือนใบ และทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้ กลีบเลี้ยงทำหน้าที่ห่อหุ้ม และป้องกันอันตรายให้แก่ส่วนของดอกที่อยู่ภายใน เมื่อดอกบานแล้วส่วนของกลีบเลี้ยงอาจหมดหน้าที่แล้วหลุดร่วงไป วงของกลีบเลี้ยงเรียกว่า แคลิกซ์ (calyx)
กลีบเลี้ยงที่ไม่ใช่สีเขียวและทำหน้าที่ล่อแมลงให้มาผสมเกสรได้ เช่นเดียวกับกลีบดอก ใต้กลีบเลี้ยงมีกลีบสีเขียวขนาดเล็กเรียงตัวเป็นวงอยู่ด้วย เรียกว่า ริ้วประดับ (epicalyx) เช่น ในดอกชบา และพู่ระหง
2. กลีบดอก (petal) เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากกลีบเลี้ยงเข้ามากลีบดอกมักมีสีสันสวยงามเนื่องจากมีรงควัตถุ เช่น แอนโทไซยานินละลายอยู่ในsap vacuole ทำให้เกิดสีแดง สีน้ำเงิน ม่วง นอกจากนี้ยังมีสารแอนโทแซนทิน ละลายอยู่ด้วยทำให้เกิดสีต่างๆ ได้หลายสี ในดอกไม้สีขาว เนื่องจากในแซพแวคิวโอล ไม่มีรงควัตถุชนิดใดบรรจุอยู่ หรือมีแอนโทแซนทินก็ได้ สารสีเหลืองหรือสีแดงเกิดจากรงควัตถุชนิด แคโรทีนอยด์ กลีบดอกบางชนิดสามารถเปลี่ยนสีได้ เช่นดอกพุดตาน บางชนิดมีกลิ่นหอมเนื่องจากมีต่อมกลิ่นอยู่ด้วยและที่โคนกลีบดอกมักมีต่อมน้ำหวาน ช่วยในการล่อแมลง วงกลีบดอกเรียกว่า คอโรลา (corolla) ถ้าหากกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนกันจนแยกไม่ออกจะเรียกรวมกันว่า วงกลีบรวม (perianth) ได้แก่ จำปี จำปา บัวหลวง ทิวลิป เป็นต้น
3. เกสรตัวผู้ (stamen) เป็นส่วนที่จำเป็นต่อการสืบพันธุ์ ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ เกสรตัวผู้มักมีหลายอันและเรียงตัวเป็นวงเรียกว่า แอนดรีเซียม (androecium)เกสรตัวผู้ส่วนใหญ่แยกกันเป็นอันๆ แต่บางชนิดอาจติดกัน หรืออาจติดส่วนอื่นของดอก เช่น เกสรตัวผู้เชื่อมติดกับกลีบดอก พบในดอกเข็ม ดอกลำโพง หรือเกสรตัวผู้ติดกับเกสรตัวเมีย พบในดอกรัก ดอกเทียน
เกสรตัวผู้แต่ละอันประกอบด้วย 2 ส่วน
3.1 ก้านชูเกสรตัวผู้ (filament) เป็นส่วนที่มีลักษณะเป็นเส้นอาจรวมกันเป็นกลุ่มหรือแยกกันอาจยาวหรือสั้นซึ่งก็แล้วแต่ชนิดของพืช ทำหน้าที่ชูอักเกสรตัวผู้หรืออับเรณู
3.2 อับเกสรตัวผู้ (anther) มีลักษณะเป็นแทงกลมยาวหรือค่อนข้างกลม 2 พู ภายในแบ่งเป็นถุงเล็กๆ 4 ถุง เรียกว่า ถุงเรณู(pollen sac) บรรจุละอองเรณู (pollen grain)จำนวนมากมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ สีเหลืองๆ ผิวของละอองเรณูแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ละอองเรณูทำหน้าที่ เป็นเซลล์สืบพันธุเพศผู้ เมื่อดอกเจริญเต็มที่แล้วถุงละอองเรณูจะแตกออก ละอองเรณูก็จะปลิวออกมา เกสรตัวผู้ในพืชแต่ละชนิดมีจำนวนมากน้อยไม่เท่ากัน ในพืชโบราณหรือพืชชั้นต่ำเกสรตัวผู้มักมีจำนวนมาก ส่วนพืชที่มีวิวัฒนาการสูงจำนวนเกสรตัวผู้จะลดน้อยลง
4. เกสรตัวเมีย (pistil) เป็นชั้นที่อยู่ในสุดเปลี่ยนแปลงมาจากใบเพื่อทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย จึงเป็นอวัยวะสำคัญต่อการสืบพันธุ์ ในหนึ่งดอกเกสรตัวเมียอาจมีอันเดียวหรือหลายอัน เรียงตัวเป็นวงของเกสรตัวเมีย เรียกว่า จิเนเซียม (gynaecium)
เกสรตัวเมียประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
4.1 ยอดเกสรตัวเมีย (stigma) เป็นส่วนที่พองออกมีลักษณะเป็นตุ่มแผ่แบนเป็นแฉก เป็นพูและมีน้ำเหนียวๆ หรือขนคอยจับละอองเรณูที่ลอยมาติด
4.2 ก้านชูเกสรตัวเมีย (style) เป็นส่วนที่มีลักษณะเป็นเส้นหรือก้านเล็กๆ อาจยาวหรือสั้นเชื่อมต่อจากยอดเกสรตัวเมียลงสู่รังไข่ เป็นทางให้เสปิร์มนิวเคลียสเข้าผสมกับไข่
4.3 รังไข่ (ovary) เป็นส่วนที่พองออกมาลักษณะเป็นกระเปาะยึดกับฐานรองดอกหรืออาจฝังอยู่ในฐานรองดอกภายในมีลักษณะเป็นห้องๆ เรียกว่า โลคุล (locule) ซึ่งภายในมีออวุล(ovule) บรรจุอยู่แต่ละหน่วยของเกสรตัวเมียที่มีโลคุลที่ห่อหุ้มไข่ไว้ภายในเรียกว่า คาร์เพล (carpel) ใน 1 โคคุล อาจมี 1 คาร์เพล หรือหลายคาร์เพลก็ได้แล้วแต่ชนิดของดอกไม้ เมื่อเกิดการปฏิสนธิแล้วรังไข่จะเจริญเป็นผล ส่วนออวุลเจริญเป็นเมล็ด
ชนิดของดอกไม้
ดอกไม้จำแนกได้หลายประเภท โดยใช้เกณฑ์ต่างๆ เช่น
1. จำแนกโดยอาศัยเพศเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 2 ชนิด
1.1 ดอกสมบูรณ์เพศ (perfect flower) เป็นดอกไม้ที่มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน เช่น ชบา พู่ระหง ถั่ว พริก พุทธรักษา ข้าว มะเขือ
1.2 ดอกไม่สมบูรณ์เพศ (imperfect flower) คือ ดอกที่มีเพียงเพศเดียวเท่านั้น คือถ้ามีแต่เกสรตัวผู้ต้องไม่มีเกสรตัวเมีย หรือมีแต่เกสรตัวเมียต้องไม่มีเกสรตัวผู้ เช่น ตำลึง เตย ลำเจียก ข้าวโพด ฟักทอง แตงกวา บวบ หน้าวัว
2. จำแนกโดยอาศัยส่วนประกอบของดอกเป็นเกณฑ์ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด
2.1 ดอกครบส่วน หรือดอกสมบูรณ์ (complete flower) เป็นดอกที่ประกอบด้วยวง 4 ครบ คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ เกสรตัวเมีย ได้แก่ ดอกชบา กุหลาบ แค มะเขือ พู่ระหง
2.2 ดอกไม่ครบส่วนหรือดอกไม่สมบูรณ์ (incomplete flower) เป็นดอกที่มีส่วนประกอบทั้ง 4 วงไม่ครบ โดยขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป เช่น ดอกบานเย็น(ขาดกลีบดอก) ดอกหน้าวัวและดอกอุตพิต(ขาดกลีบเลี้ยงและกลีบดอก) ดอกตำลึง ฟักทอง บวบ แตง(ขาดเกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมีย)
ดอกครบส่วนคือดอกสมบูรณ์เพศเสมอ และดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือดอกไม่ครบส่วนเสมอ ส่วนดอกไม่ครบส่วนจะเป็นดอกสมบูรณ์เพศ หรือไม่สมบูรณ์เพศก็ได้ เช่นเดียวกัน ดอกสมบูรณ์เพศอาจเป็นดอกครบส่วนหรือไม่ครบส่วนก็ได้
3. จำแนกตามจำนวนดอกที่ติดอยู่บนก้านดอก แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
3.1 ดอกเดี่ยว (solitary flower) คือ ภายในหนึ่งก้านดอกประกอบด้วยดอกเพียงดอกเดียว เช่น ฟักทอง จำปี ชบา บัว
3.2 ดอกช่อ (inflorescence flower) ดอกที่ประกอบด้วยดอกย่อยหลายๆ ดอกอยู่บนหนึ่งก้านดอก แต่ละดอกมีดอกย่อย (floret) มีด้านดอกย่อย ที่โคนก้านดอกย่อยมีใบประดับ รองรับด้วยก้านดอกย่อยอยู่บนช่อดอก แกนกลางที่อยู่ต่อจากก้านช่อดอกที่อยู่ระหว่างดอกย่อยแต่ละดอกเรียกว่า ราคิส (rachic) ช่อดอกมีความหลากหลาย นักวิทยาศาสตร์ใช้ลักษณะการจัดเรียงตัว และการแตกกิ่งก้านของช่อดอกออกเป็นแบบต่างๆ
ช่อดอกบางชนิดมีลักษณะคล้ายดอกเดี่ยว ดอกย่อยเกิดตรงปลายก้านช่อดอกเดียวกัน ไม่มีก้านดอกย่อย ดอกย่อยเรียงกันอยู่บนฐานรองดอกที่โค้งนูนคล้ายหัว เช่น ทานตะวัน ดาวเรือง บานชื่น บานไม่รู้โรย ดาวกระจาย เป็นต้น ช่อดอกแบบนี้ประกอบด้วยดอกย่อยๆ 2 ชนิด คือ ดอกวงนอกของดอก มี 1 ชั้น หรือหลายชั้นเป็นดอกสมบูรณ์เพศหรือไม่สมบูรณ์เพศก็ได้ ส่วนมากเป็นดอกเพศเมีย และดอกวงในอยู่ตรงกลาง มักเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปทรงกระบอกอยู่เหนือรังไข่
จำแนกตามตำแหน่งของรังไข่ เมื่อเทียบกับฐานรองดอก แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
4.1 ดอกที่มีรังไข่อยู่เหนือฐานรองดอก เช่น ดอกมะเขือ จำปี ยี่หุบ บัว บานบุรี พริก ถั่ว มะละกอ ส้ม
4.2 ดอกที่มีรังไข่อยู่ใต้ฐานรองดอก เช่น ดอกฟักทอง แตงกวา บวบ ฝรั่ง ทับทิม กล้วย พลับพลึง