การนอนกลางวันอาจเป็นประโยชน์ต่อคนในวัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี โดยอาจช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย บรรเทาความเหนื่อยล้า เพิ่มความตื่นตัว ช่วยให้อารมณ์ ความจำ สมรรถภาพ และการตอบสนองดีขึ้น ทั้งนี้ มีการศึกษาและงานวิจัยบางส่วนชี้ถึงประโยชน์ของการนอนกลางวันไว้ ดังนี้
- อาจช่วยให้สมองเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น
- สมองอาจจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดี รวมถึงจดจำคำพูด การรับรู้สิ่งต่าง ๆ หรือทักษะการเคลื่อนไหวได้ดี
- อาจช่วยคงประสิทธิภาพในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น
- ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่าหากนอนกลางวันเป็นเวลา 30 นาที อาจช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดและช่วยให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น
- ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การพักหรือแค่นอนอยู่กับที่แม้ไม่ได้นอนหลับก็อาจช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้
- ผู้ที่นอนกลางวันเป็นเวลา 45-60 นาที อาจมีความดันโลหิตลดลงหลังจากเผชิญกับความเครียดทางจิตใจ
- ในผู้สูงอายุ การนอนกลางวันในช่วงเวลาบ่ายโมงไปจนถึงบ่าย 3 โมง เป็นเวลา 30 นาที พร้อมกับการออกกำลังกายที่พอเหมาะอย่างการเดินหรือการยืดกล้ามเนื้อในตอนเย็น อาจช่วยให้นอนหลับในตอนกลางคืนได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงอาจทำให้มีสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นด้วย
- การนอนกลางวันเป็นเวลา 60-90 นาที จะทำให้ร่างกายเข้าสู่ช่วงหลับตื้นหรือ REM Sleep ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นสมองส่วนจินตนาการและความฝัน ส่งผลให้มีความคิดสร้างสรรค์และคิดหาทางออกของเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
- การนอนกลางวันสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กก่อนวัยเรียน เพราะเด็กในวัยนี้มีความสามารถในการจดจำที่จำกัด โดยพบว่าเด็กที่นอนกลางวันเป็นประจำสามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
โทษที่อาจเกิดจากการนอนกลางวัน
แม้การนอนกลางวันจะให้ประโยชน์แก่ร่างกาย แต่ในบางกรณีก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน โดยหากนอนกลางวันเป็นเวลานานเกินไป หลังตื่นก็จะยิ่งรู้สึกง่วงซึมมากขึ้น และยิ่งต้องใช้เวลานานมากขึ้นเพื่อให้ร่างกายตื่นตัวพร้อมกลับมาทำงานดังเดิม นอกจากนี้ หากนอนกลางวันนานเป็นประจำอาจทำให้โรคนอนไม่หลับมีความรุนแรงขึ้น หรือทำให้นอนหลับในช่วงเวลากลางคืนได้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
-ขอบคุณข้อมูล https://www.pobpad.com/