สถิติ (Statistics) อาจพิจารณาได้ 3 ความหมาย คือ
• สถิติ หมายถึง ตัวเลขที่ใช้บรรยายเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริง (facts) ของเรื่องต่างๆ ที่เราต้องการศึกษา เช่น สถิติจำนวนผู้ป่วย สถิติจำนวนคนเกิด สถิติจำนวนคนตาย เป็นต้น
• สถิติ หมายถึง ศาสตร์หรือวิชาที่ว่าด้วยหลักการและระเบียบวิธีทางสถิติ สถิติใน ความหมาย นี้มักเรียกว่า สถิติศาสตร์ (Statistics)
• สถิติ หมายถึง ค่าที่คำนวณขึ้นมาจากตัวอย่าง เพื่อแสดงถึงคุณลักษณะบางอย่างของข้อมูลชุดนั้น โดยทั่วไปจะนำค่าสถิติไปใช้ในการประมาณค่าพารามิเตอร์ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราสนใจรายได้เฉลี่ยของคนในหมู่บ้าน แล้วเราสามารถนำรายได้ของทุกคนมา รวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ยของรายได้ ค่าเฉลี่ยที่คำนวณได้นี้ถือว่าเป็นค่าพารามิเตอร์ แต่ถ้าเราสุ่มตัวอย่างคนในหมู่บ้านมาจำนวนหนึ่งแล้วคำนวณรายได้เฉลี่ย ค่าเฉลี่ยที่ได้นี้จะเป็นค่าสถิติ
1.1.2 ข้อมูล (data) หมายถึง ข้อเท็จจริง (facts) ที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นตัวเลข เช่น จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ในหมู่บ้าน ราคาของพืชผักและผลไม้ต่างๆ ในหมู่บ้าน เป็นต้น หรืออาจเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ตัวเลข เช่น การศึกษา หรือ อาชีพของคนในหมู่บ้าน เป็นต้น
1.1.3 สารสนเทศหรือข่าวสาร (Information) หมายถึง ผลลัพธ์จากการนำเอาข้อมูลที่สังเกต และบันทึกไว้มาทำการจัดการข้อมูล ประมวลผล เชื่อมโยงความสัมพันธ์ และแปลความหมาย แล้วเลือกนำเสนอขึ้นเป็นสารสนเทศหรือข้อความรู้เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำหรับตัดสินใจปฏิบัติการต่างๆ
ประเภทของข้อมูล
1.การแบ่งประเภทตามแหล่งที่มา
- ข้อมูลปฐมภูมิ คือ ข้อมูลที่เรารวบรวมมาเอง หรือนำมาจากต้นกำเนิดของข้อมูลโดยตรง มีความน่าเชื่อถือสูง แต่อาจมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมข้อมูลเอง เช่น พี่สาวคนโตตกลงกับน้อง ๆ ว่าวันหยุดยาวนี้ไปเที่ยวที่ไหนดี ข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลปฐมภูมิสำหรับพี่สาว
- ข้อมูลทุติยภูมิ คือ ข้อมูลที่รวบรวมมาจากแหล่งอื่นอีกที เช่น พี่สาวคนโต รวบรวมความคิดเห็นของน้อง ๆ มาบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าแต่ละคนอยากไปเที่ยวที่ไหนกันบ้าง ข้อมูลนี้จะกลายเป็นข้อมูลทุติยภูมิสำหรับคุณพ่อคุณแม่
2.การแบ่งประเภทตามระยะเวลาที่เก็บข้อมูล
- ข้อมูลอนุกรมเวลา คือ ข้อมูลที่เก็บค่าต่อเนื่องในแต่ละเวลา เช่น รายจ่ายของแต่ละวันในหนึ่งเดือน
- ข้อมูลแบบตัดขวาง คือ ข้อมูลที่เจาะจงเวลาลงไปว่าสนใจค่าของเวลาไหน เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝนของวันนี้ในแต่ละจังหวัด
3.การแบ่งประเภทตามลักษณะของข้อมูล
- ข้อมูลเชิงปริมาณ คือ ข้อมูลที่เก็บเป็นค่าตัวเลข นำไปบวกลบคูณหารกันได้ เช่น ส่วนสูง อายุ คะแนนสอบ แต่ไม่ใช่ตัวเลขทั้งหมดจะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ อย่างการวัดระดับความพึงพอใจ แม้จะมีเรต 1-5 แต่ตัวเลขเหล่านี้ เป็นตัวแทนของความพอใจน้อยไปหามาก ไม่ได้หมายถึงตัวเลขที่นำมาคำนวณได้จริง ๆ ดังนั้น ข้อมูลระดับความพึงพอใจที่ว่านี้จึงเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ
- ข้อมูลเชิงคุณภาพ คือ ข้อมูลที่บ่งบอกลักษณะ ไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้ เช่น เพศ อาชีพ อาหารที่ชอบ และระดับความพึงพอใจอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น
สถิติเชิงพรรณาและสถิติเชิงอนุมาน
การนำสถิติไปใช้งานนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- สถิติเชิงพรรณา
คำว่าพรรณนา แปลว่าบรรยายหรืออธิบาย ดังนั้นสถิติเชิงพรรณนาจึงหมายถึง การบรรยายหรือวิเคราะห์ข้อมูล โดยอาจเป็นข้อมูลเชิงปริมาณหรือคุณภาพก็ได้ โดยมักจะใช้เพื่อสรุปผลข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมาก เช่น การหาอายุเฉลี่ยของลูกค้าประจำร้าน A เป็นต้น
- สถิติเชิงอนุมาน
คำว่า อนุมาน หมายถึง ทำนายหรือคาดการณ์ ดังนั้น สถิติเชิงอนุมานจึงหมายถึง การใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพื่อทำนายลักษณะของข้อมูลประชากรทั้งหมด อย่างการสอบถามกิจกรรมยามว่างของนักเรียนทั้งโรงเรียน การที่เราเลือกกลุ่มตัวอย่างจากนักเรียนบางห้อง มาสอบถามแล้วสรุปผล โดยคาดว่าน่าจะเป็นกิจกรรมที่นักเรียนส่วนใหญ่ชอบทำในเวลาว่าง เรียกว่าเป็นการใช้สถิติเชิงอนุมานนั่นเอง