สำหรับประเภทของการ Overclock เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์นั้นก็สามารถแบ่งประเภทหลัก ๆ ได้ 3 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้
1. การ Overclock แบบปรับ FSB เพียงอย่างเดียว
การเพิ่มความถี่ของ FSB ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วในการทำงานของ CPU นั้นจะช่วยให้ข้อมูลต่าง ๆ มีการส่งถ่ายข้อมูลที่ไวมากขึ้นได้ เช่น ก่อนทำการ Overclock กับ CPU ทำงานที่ FSB 260 MHz และมีตัวคูณอยู่ที่ 10 ก็จะทำให้สามารถประมวลผลได้ที่ 2.6 GHz แต่หลังจากการเพิ่ม FSB 260 MHz เป็น 300 MHz แล้วนั้น CPU ของเราก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 3.0 GHz โดยที่ตัวคูณยังอยู่ที่ 10 ดังเดิม
2. การ Overclock แบบปรับตัวคูณเพียงอย่างเดียว
เป็นการเพิ่มความเร็วในการประมวลผลโดยเร่งตัวคูณให้มากขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อการทำงานของอุปกรณ์อื่น ๆ ดังนั้นสิ่งที่จะถูกใช้งานหนักที่สุดในการ Overclock รูปแบบนี้ก็คือ CPU เพียงอย่างเดียว เช่น ก่อนทำการ Overclock กับ CPU ทำงานที่ FSB 200 MHz และมีตัวคูณอยู่ที่ 15 ก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 3.0 GHz แต่หลังจากทำการ Overclock โดยเพิ่มตัวคูณจาก 15 เป็น 16 แล้ว CPU ก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 3.2 GHz โดยที่ยังมีค่า FSB อยู่ที่ 200 MHz
3. การ Overclock แบบปรับทั้ง FSB และตัวคูณ
วิธีนี้จะเร่งความเร็วในการประมวลผลทั้งความถี่ในการส่งถ่ายข้อมูลและตัวคูณ จึงทำให้ CPU ของเราทำงานได้ไวขึ้นและมีประสิทธิภาพโดยรวมสูงขึ้นทั้งหมด แต่การ Overclock ประเภทนี้ก็เสี่ยงต่อการ Overheat และทำให้อุปกรณ์ของเราเสื่อมสภาพไวกว่าที่ควรค่อนข้างมากทีเดียว เช่น ก่อนหน้าการทำ Overclock ตัว CPU ทำงานที่ FSB 250 MHz และมีตัวคูณที่ 10 ก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 2.5 GHz และหลังจากผ่านการ Overclock โดยเพิ่ม FSB และตัวคูณโดยปรับให้เป็น FSB ที่ 300 MHz และตัวคูณที่ 12 ก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 3.6 GHz นั่นเอง
ข้อควรระวังในการ Overclock
ถึงแม้ว่าการ Overclock จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของ CPU ให้สามารถประมวลผลได้ไวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่การทำ Overclock นั้นก็มีข้อควรระวัง 2 ข้อใหญ่ ๆ ดังนี้
การระบายความร้อน CPU
การระบายความร้อนที่ผ่านการ Overclock มักมีปัญหาเรื่องระบบระบายความร้อน เนื่องจากการประมวลผลที่ไวขึ้นก็ต้องใช้งานกำลังไฟที่มากขึ้น จึงทำให้อุณหภูมิของ CPU สูงได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่ชื่นชอบในการ Overclock จึงมักปรับแต่งระบบระบายความร้อนให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบางคนอาจเลือกใช้งานชุดน้ำ (Water Cooling) แทนการใช้งานพัดลมระบายความร้อน แต่ในส่วนนี้ก็ต้องเสียเงินค่าปรับระบบระบายความร้อนเพิ่มเติมด้วย
อายุการใช้งานของ CPU
เพราะการ Overclock ก็คล้ายกับการ “ยืม” ประสิทธิภาพการทำงานในอนาคตมาใช้งานก่อน ดังนั้นจากอายุการใช้งานของ CPU ที่สามารถใช้งานได้นานถึง 10 ปี เมื่อผ่านาการ Overclock ก็ทำให้มีอายุการใช้งานที่ลดน้อยลงไปได้ (อีกทั้งถ้าเลือก Overclock แบบเพิ่ม FSB ก็อาจทำให้อุปกรณ์อื่น ๆ มีอายุการใช้งานต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้อีกด้วย)
ที่มา : www.howtogeek.com , www.businessinsider.com , smallbusiness.chron.com , www.overclockersclub.com , www.intel.com , www.anandtech.com