เริ่มสงสัยแล้วใช่หรือไม่ ว่าทำไมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกจึงเน้นย้ำให้เราทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง แล้วสงสัยอีกหรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายหากภูมิคุ้มกันถดถอยลง
จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายหากภูมิคุ้มกันถดถอย
หนึ่งในเซลล์ภูมิคุ้มกันที่สำคัญและมีปริมาณมากที่สุด คือ เซลล์เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่เหมือนทหารเฝ้าระวังคอยตรวจหา และดักจับสิ่งแปลกปลอมหรือไวรัสที่จะเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเหล่านั้น เมื่อภูมิคุ้มกันถดถอยทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคลดลง หรืออาจใช้เวลานานมากขึ้นในการกำจัดเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคเข้าไปทำร้ายเซลล์ต่างๆ รวมทั้งเกิดการตอบสนองต่อต้าน เกิดเป็นสาเหตุของอาการต่างๆตามมา ซึ่งความรุนแรงขึ้นกับระดับภูมิคุ้มกันของแต่ละคนในการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้ามา
อายุยังน้อยแปลว่าภูมิคุ้มกันยังแข็งแรง…จริงหรือ?
ผลงานการวิจัยชิ้นล่าสุดของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไว้ว่า อายุที่เพิ่มมากขึ้นมีส่วนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ถดถอย ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย ซึ่งก็หมายความว่ายิ่งอายุมากขึ้นร่างกายก็จะยิ่งบอบบาง เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่ลดลง และเซลล์ในร่างกายที่เสื่อมลงตามวัย ประกอบกับมีโรคประจำตัว เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมัน ความดัน หรือเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย ทำให้ศักยภาพในการต้านทานโรคต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ภูมิคุ้มกันที่ถดถอยไปตามอายุร่างกายยังส่งผลไปถึงระยะเวลาการฟื้นตัวของร่างกายหลังได้รับเชื้อเป็นไปได้ช้าอีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสถิติของผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด หรือจากการเจ็บป่วย มักเป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงแม้ว่าอายุยังน้อย เป็นคนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยเรียน หรือวัยทำงานก็มีโอกาสที่ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงได้ เพราะปัจจัยที่ทำให้ภูมิคุ้มกันถดถอยนั้นไม่ได้มีเพียงแค่อายุเท่านั้น
จริงอยู่ว่าอายุที่เพิ่มมากขึ้นนั้นมีผลต่อความถดถอยของภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่อาจไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป มีผู้สูงอายุหลายคนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพและมีการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ทำให้ร่างกายไม่ทรุดโทรม ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ดีอยู่ ผิดกับคนอายุน้อยหลายคนที่ถึงแม้จะมีสภาพร่างกายที่ดีกว่า ภายนอกดูแข็งแรง แต่ความจริงแล้วก็อาจมีระบบภูมิคุ้มกันถดถอยได้โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากรูปแบบและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ละเลยการออกกำลังกาย มีความเครียดสะสม ทานอาหารรสจัด ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทานอาหารที่ไม่มีความหลากหลายทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอต่อความต้องกายของร่างกาย เป็นต้น
จากการศึกษาเกี่ยวกับการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในเด็กให้แข็งแรง พบว่า จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ มีส่วนช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของลูกให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีการเติมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ลงในอาหารมากมาย เช่น อาหารเสริมสำหรับเด็กและนมผง นี่จึงเป็นอีกวิธีการที่ช่วยให้คุณแม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้ด้วยตัวเอง โดยจุลินทรีย์ดีเหล่านี้จะช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคตามกลไกดังต่อไปนี้ค่ะ
- เกาะปกคลุมผิวเยื่อบุลำไส้ไม่ให้เชื้อก่อโรคเกาะจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้และทำอันตรายผนังลำไส้
- หมักใยอาหาร พรีไบโอติกและแลคโตสในนม กลายเป็นกรดอะซิติกและแลกติก ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเติบโตของเชื้อก่อโรคได้
- สารแบคเทอริโอซิน (Bacteriocin) จะถูกปล่อยออกมาเพื่อทำการดักจับและทำลายเชื้อโรค
- แย่งอาหารเชื้อก่อโรค ทำให้เชื้อก่อโรคไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้
- กระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็ก โดยการสื่อสารกับเนื้อเยื่อน้ำเหลืองในชั้นใต้เยื่อบุลำไส้ (Gut-associated lymphocyte tissue, GALT) ทำให้มีการกระตุ้นตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ข้อมูลอ้างอิงจาก
หนังสือ “สร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19ด้วยตัวเอง” โดย หมอสันต์ ใจยอดศิลป์
www.webmd.com/healthy-aging/guide/seniors-boost-immunity#1
www.health.harvard.edu/staying-healthy/how-to-boost-your-immune-system
www.scimath.org/article-biology/item/11611-2020-06-05-09-38-52
และ https://www.megawecare.co.th/