กระแสรักธรรมชาติ ทำให้หลายคนเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่นที่สนใจนำ “เส้นใยกัญชง” มาเป็นวัตถุดิบสิ่งทอที่แปลกใหม่และมีคุณสมบัติครบถ้วน
โดย นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผอ.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ปัจจุบันวงการแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหลากหลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่ให้ความสำคัญกับการเลือกวัตถุดิบที่แปลกใหม่ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งกระแสรักธรรมชาติมาแรงมากในปี 2017 นี้ ทำให้เน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้ายออแกนิค เส้นใยไผ่ ไหม ลินิน เส้นใยสับปะรด รวมไปถึง “เส้นใยกัญชง” ที่กำลังได้รับความสนใจแพร่หลายจากแบรนด์ระดับโลก อาทิ หลุยส์วิตตอง เฟนดิ เพราะสามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่มได้แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน ให้ความอบอุ่นมากกว่าลินิน สีติดทนกว่าผ้าฝ้าย ป้องกันรังสียูวีและความร้อนได้ถึง 170 องศาฯ จึงมีจุดเด่น คือแข็งแรง ทนทาน ยืดหยุ่น สวมใส่สบาย และถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย ที่มีประสิทธิภาพในการปลูกและผลิตเส้นใยกัญชงป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมของโลกต่อไป
ประโยชน์ของกัญชง
- เปลือกจากลำต้นให้เส้นใยเพื่อนำไปใช้ทำเป็นเส้นด้ายและเชือก ใช้สำหรับการทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ[1] นอกจากนี้ยังใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้เป็นรองเท้าของคนตายเพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์ ใช้ทำเป็นด้ายสายสิญจน์ในพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้ในพิธีอัวเน้งหรือพิธีเข้าทรง ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญของชาวม้ง เส้นใยจากต้นกัญชงนั้นมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนม้ง[4]
- เนื้อของลำต้นที่ลอกเปลือกออกแล้วสามารถนำมาผลิตเป็นกระดาษได้[1]
- แกนของต้นกัญชงจะมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมันได้ดี ในต่างประเทศนิยมนำไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถ่านไม้, Alcohol, Ethanol, Methanol นอกจากนี้ แกนกัญชงยังถูกนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย[5]
- เมล็ดใช้เป็นอาหารของคนและนก เมล็ดกัญชงที่เก็บได้สามารถนำมาสกัดเอาน้ำมันมาใช้ในการปรุงอาหารได้ ซึ่งจากการศึกษาก็พบว่า ในน้ำมันจากเมล็ดนั้นมีโอเมก้า3 สูงมาก นอกจากนี้ยังมีโอเมก้า 6, โอเมก้า 9, linoleic acid, alpha- และ gamma-linolenic acid และสารในกลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินอี ซึ่งเมื่อบริโภคแล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในร่างกายได้อีกด้วย[1],[2]
- น้ำมันจากเมล็ดสามารถไปผลิตเป็นน้ำมันซักแห้ง ทำสบู่ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด แชมพู สบู่ โลชั่นบำรุงผิว ลิปสติก ลิปบาล์ม แผ่นมาส์กหน้า หรือแม้กระทั่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และถูกพัฒนาเป็นตำรับครีมน้ำมันกัญชงที่ให้ความชุ่มชื้นและช่วยบำรุงผิวแห้งเพื่อรักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินที่ได้ผลเป็นอย่างดี[2],[5]
- เมล็ดนอกจากจะให้น้ำมันแล้ว ยังพบว่ามีโปรตีนสูงมากอีกด้วย โดยสามารถนำมาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น เนย ชีส เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารว่าง อาหารเสริม ฯลฯ หรือผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลืองได้เป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตอาจใช้เป็นทางเลือกในการบริโภคแทนถั่วเหลืองซึ่งเป็นพืช GMOs ก็เป็นได้[1],[5]
- ในส่วนของใบก็สามารถนำไปใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่เป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง รวมไปถึงการนำใบมาเป็นชาเพื่อสุขภาพ, นำมาเป็นผงผสมกับสารอาหารอื่น ๆ เพื่อผลิตเป็นอาหารเสริม, ผลิตเป็นอาหารโดยตรงอย่างเส้นพาสต้า คุกกี้ หรือขนมปัง, ใช้ทำเบียร์, ไวน์, ซ้อสจิ้มอาหาร ฯลฯ[3],[5] และยังใช้ประโยชน์โดยนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ที่มีคุณสมบัติช่วยดูแลผิวพรรณ ทำให้ผิวชุ่มชื้น เหมาะกับผิวแพ้ง่าย ผิวบอบบาง[5]
- ในประเทศญี่ปุ่นมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อกำจัดกัมมันตภาพรังสีให้สลายตัวที่จังหวัด Fugushima และสารกัมมันตภาพรังสีรั่วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียที่ระเบิดจากสึนามิ ซึมลงดินจนไม่สามารถทำการเกษตรได้[3]
- กัญชงจัดเป็นเส้นใยมงคลที่ชาวญี่ปุ่นนิยมนำมาตัดกิโมโน เพราะเป็นผ้าที่มีความทนทานนับร้อยปี
ขอบคุณข้อมูล https://medthai.com/