ร่างกายของมนุษย์เต็มไปด้วยอวัยวะที่มหัศจรรย์และซับซ้อม แถมแต่ละอวัยวะยังทำงานเชื่อมต่อกันไปมาอย่างซับซ้อนยิ่งกว่าเครื่องจักรกลในโรงงานอุสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างเช่น ดวงตา ที่รับภาพ ไปสู่สมอง เพื่อประมวลภาพสั่งการออกมาให้อวัยวะอื่นๆรับรู้ เช่นเดียวกันกับ หู ที่รับเสียง วิ่งตรงไปสู่สมองเพื่อให้ประมวลเสียงแล้วอาจจะส่งต่อไปยังดวงตา เพื่อมองหาเสียงที่เกิดขึ้น หรือปาก เพื่อร้องอุทานออกมาเมื่อได้สินเสียงที่ดัง หรือน่ากลัว และถ้าหากมนุษย์เราสูญเสียงอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไป ก็เป็นที่แน่นอนเลยว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นจะต้องเกิดการเสียศูนย์ และเสียสมดุลในการดำรงชีวิต และคงต้องใช้เวลานานพอสมควร ที่ต้องมาฝึกอวัยวะอื่นๆ เพื่อให้มาทดแทนอวัยวะส่วนที่หายไป ซึ่งในหลายๆกรณี ก็ไม่มีอวัยวะใด ที่สามารถทดแทนอวัยวะส่วนที่หายไปนั้นได้ดีเท่าอวัยวะเดิม
หู เป็นอวัยวะที่เมื่อมองจากภายนอก อาจจะเห็นว่าโครงสร้างของ หู นั้น ไม่ซับซ้อนเท่ากับอวัยวะอื่นๆ อย่างเช่นดวงตา หากเมื่อดวงตาเราเกิดพล่างมัว ร่างกายเราก็สั่งงานทันทีว่านี่คืออันตรายร้ายแรงของระบบของร่างกาย เราต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน แต่ถ้าหาก หู เกิดได้ยินเสียงที่เบาลง เราก็คิดเพียงแค่ว่า ก็ต้องเพิ่มเสียงขึ้นสิ ถึงจะได้ยิน แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างนั้น หู กลับเป็นอวัยวะที่อ่อนไหว ไม่แพ้กับอวัยวะอื่นๆของร่ายกาย และภายในหูยังกลับซ่อนความซับซ้อนมากมายอยู่ในนั้น และแต่ละส่วนนั้น ก็มีความสำคัญยิ่งนักต่อร่ายกายของเรา
หู ทำงานด้วยพลังงานกล และพลังงานไฟฟ้า แล้วส่งกระแสประสาทไปสู่สมอง หูทำหน้าที่สำคัญถึง 2 อย่าง คือ การได้ยิน และ การทรงตัว ซึ่งทั้ง 2 หน้าที่นี้ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์
หู เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการได้ยิน และการทรงตัว ทำงานด้วยพลังงานกลและพลังงานไฟฟ้า (Mechanic and Electrical Impulse) ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปสู่สมองโดยตรง ทำให้การได้ยินและการทรงตัวเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อใดก็ตามที่มีอารการผิดปกติของหูข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบต่อการได้ยิน เช่น มีอาการหูอื้อ หูหนวก หรือไม่สามารถทรงตัวได้ เมื่อเคลื่อนไหวก็จะเกิดอาการโคลงเคลง บ้านหมุน จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ดังนั้นหูจึงเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมากกับมนุษย์นั่นเอง
หู และการได้ยิน มีผลต่อการทรงตัวอย่างไร?
ถึงแม้ว่าในหูชั้นในจะมีอวัยวะที่ทำหน้าสำคัญในการรับรู้ตำแหน่งของศีรษะและร่างกาย ซึ่งมีผลและจำเป็นอย่างมากต่อระบบการทรงตัว แต่ระบบการได้ยินและระบบการทรงตัวนั้นทำงานแยกจากกัน ระบบการได้ยินซึ่งประกอบไปด้วยเยื่อแก้วหู (Tympanic membrane) และกระดูกขนาดเล็กทั้ง 3 ชิ้นได้แก่ ค้อน(Malleus) ทั่ง (Incus) โกลน (Stapes) จะวางตัวอยู่ในหูชั้นกลาง (Middle ear) ในขณะที่อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวจะวางตัวจะอยู่ในหูชั้นใน จึงจะสังเกตได้ว่าผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จะไม่ได้มีปัญหาด้านการทรงไปตัวด้วยนั่นเอง
การทรงตัว หรือภาวะสมดุลของการทรงตัว
การทรงตัว หรือภาวะสมดุลของการทรงตัว ซึ่งทำให้คนเราสามารถนั่ง นอน ยืน เดิน วิ่ง ปฏิบัติ กิจวัตรประจำวัน และปฏิบัติกิจกรรมนอกเหนือจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การเล่นกีฬา ว่ายน้ำ ขับรถและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวได้อย่างปกตินั้น แต่ต้องอาศัยกลไกของการทรงตัวหลายๆอย่างทำงานประสานกันอย่างสมดุล ได้แก่ การรับรู้สภาวะแวดล้อมจากสายตา (vision) การรับรู้แรงถ่วงของร่างกาย ผ่านกล้ามเนื้อข้อต่อของร่างกาย แขน ขา และกระดูกสันหลัง (kinesthetic) และโดยเฉพาะการรับรู้การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของศีรษะผ่านทางประสาททรงตัวในหูชั้นในทั้ง 2 ข้าง (vestibular end-organ) โดยการทำงานของระบบรับรู้ทั้งสามนี้ จะต้องประสานกันอย่างสมดุล และส่งสัญญาณไปสู่ศูนย์รับและประมวลผลข้อมูลในสมองส่วนกลางนั่นเอง
ความซับซ่อนของอวัยวะที่เรียกว่าหู
หู มีส่วนประกอบดังต่อไป
- หูชั้นนอก หรือที่เรียกว่า External Ear ประกอบด้วย
1.1 ใบหู เป็นกระดูกอ่อนที่หุ่มด้วยผิวหนังบางๆ ทำหน้าที่ดัก และรับเสียงเข้าสู่รูหู
1.2 รูหู เป็นท่อคดเคี้ยวเล็กน้อย ลึกประมาณ 2.5 ซม. ผนังของรูหูบุด้วยเยื่อบาง และใต้เยื่ออ่อนนี้เต็มไปด้วยต่อมน้ำมัน ทำหน้าที่ซับไขมันเหนียว และเหลวมาหล่อเลี้ยงรูหู ไขมันเหล่านี้เมื่อรวมกับสิ่งสกปรกต่างๆก็จะกลายเป็นขี้หู ซึ่งจะช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาทางรูหูไม่ให้เข้าถึงเยื่อแก้วหูได้ง่าย
1.3 เยื่อแก้วหู เป็นเยื่อบางๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปในส่วนของรูหู กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นนอก และหูชั้นกลาง ทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง ที่เดินทางเข้ามาทางรูหู
- หูชั้นกลางอยู่ถัดจากเยื่อแก้วหู มีลักษณะเป็นโพรงอากาศ บรรจุกระดูกเล็กๆ 3 ชิ้นติดต่อกัน คือกระดูกค้อนอยู่ติดกับเยื้อแก้วหู กระดูกทั่งอยู่ตรงกลาง และกระดูกโกลนอยู่ติดกับหูชั้นใน ส่วนล่างของโพรงอากาศตอนปลายของหูชั้นกลางจะมีท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian tube) ซึ่งมีลักษณะเป็นช่องอากาศแคบๆ และยาวต่อไปถึงคอ ทำหน้าที่ปรับความกดอากาศข้างใน และข้างนอกหูให้มีความสมดุลกัน ทำให้เราไม่ปวดหูเวลาอากาศเข้าไปกระทบแก้วหูขณะที่มีการหายใจหรือกลืนอาหาร
- หูชั้นในอยู่ถัดจากกระดูกโกลนเข้ามา หูชั้นนี้ประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ 2 ส่วน คือ
3.1 ส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆที่ขดเป็นวงซ้อนกันอยู่หลายชั้นคล้ายหอยโข่ง ภายในมีท่อของเหลวบรรจุอยู่ ตามผนังด้านในของท่อมีอวัยวะรับเสียงอยู่ทั่วไป
3.2 ส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว มีลักษณะเป็นรูปท่อโค้งครึ่งวงกลมเล็กๆ 3 วง วางเรียงติดต่อกัน ตั้งฉากกับผนังภายใน ปลายของครึ่งวงกลมทั้ง 3 นั้นอยู่ติดกัน ท่อครึ่งวงกลมทั้ง 3 นี้บุด้วยเนื้อเยื่อบางๆที่มีประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวกระจายอยู่ ส่วนที่เป็นช่องว่างภายในท่อครึ่งวงกลมนี้ บรรจุด้วยของเหลว เมื่อเราเคลื่อนไหวศีรษะ หูย่อมเอนเอียงไปด้วย ของเหลวที่บรรจุภายในท่อทั้ง 3 นี้ ก็เคลื่อนที่ตามทิศทางการเอียงของศีรษะ ซึ่งจะไปกระตุ้นประสาทรับรู้เกี่ยวกับการทรงตัว แล้วส่งความรู้สึกไปยังสมองจึงทำให้เราทราบว่าร่างกายของเราทรงตัวอยู่ในลักษณะใด ของเหลวที่บรรจุในท่อครึ่งวงกลมนี้จะปรับไปตามความกดดันของอากาศ ถ้าความกดดันอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ของเหลวปรับตัวไม่ทัน ก็จะทำให้เรามีอาการวิงเวียนศีรษะเมื่อขึ้นไปอยู่ที่สูงๆอย่างรวดเร็ว
การได้ยินเสียง
เสียงที่เกิดขึ้นทุกชนิดมีลักษณะเป็นคลื่นเสียง ใบหูรับคลื่นเสียงเข้าสู่รูหูไปกระทบเยื่อแก้วหู เยื่อแก้วหูถ่ายทอดความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงไปยังกระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน ซึ่งอยู่ในหูชั้นกลาง และเลยไปยังท่อรูปครึ่งวงกลม แล้วต่อไปยังของเหลวในท่อรูปหอยโข่ง และประสาทรับเสียงในหูชั้นในชั้นในตามลำดับ ประสาทรับเสียงถูกกระตุ้นแล้วส่งความรู้สึกไปสู่สมองเพื่อแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน
การได้ยินเสียงชัดเจนขึ้นอยู่กับสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- แรงสั่นสะเทือน เสียงดังมากแรงสั่นสะเทือนก็มาก
- ระยะทางจากต้นกำเนิดเสียงมาถึงหู พลังงานเสียงจะเคลื่อนที่จากแหล่งกำเนิดทุกทิศทุกทาง พลังงานเสียงก็จะเคลื่อนที่และค่อยๆลดลง จนพลังงานเสียงหมดไป ดังนั้นคนที่อยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดเสียงจะได้ยินเสียงที่ดังและชัดเจนกว่าคนที่อยู่ไกลออกไป
- สุขภาพของหู หากอวัยวะรับเสียงเสื่อม เราก็จะได้ยินเสียงไม่ชัดเจน
- การรบกวนจากเสียงอื่นๆ เช่น มีลมพัด มีวัตถุมากั้นทางเดินของเสียง
มลภาวะของเสียง
ความดังของเสียง เกิดจากพลังงานของการสั่นที่มากหรือน้อย หากเสียงที่ดังมากๆ ก่อให้เกิดความรำคาญ เรียกว่า มลภาวะของเสียง ความดังของเสียงมีหน่วยเป็นเดซิเบล (dB) โดยมีเครื่องวัดความเข้มของเสียงเรียกว่า เดซิเบลมิเตอร์ หากไปที่ที่มีเสียงดังมากๆ ควรสวมเครื่องป้องกันเสียงทุกครั้ง
ประโยชน์ของเสียง
- ช่วยในการติดต่อสื่อสาร เช่น วิทยุ โทรศัพท์ การพูดคุยกัน
- ช่วยทำให้เกิดความบันเทิง เช่น เสียงดนตรี เครื่องดนตรีชนิดต่างๆ
- ประดิษฐ์เครื่องมือ เช่น เครื่องฟังการเต้นของหัวใจ
ทั้งนี้ทั้งนั้น หู ถือว่าเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่ายกายที่มีความมหัสจรรย์ ไม่แพ้กับอวัยวะส่วนอื่นๆของร่ายกายมนุษย์ เพราะถ้าลองนึกภาพดู หากเราไม่มี หู ระบบร่างกายเราจะเป็นเช่นไร และโลกที่มันเงียบสนิทนั้นจะน่ากลัวแค่ไหน
-ขอบคุณข้อมูล https://www.scimath.org/ และhttps://www.dmedhearing.com/