การบริหารจิต หมาย ถึง การบำรุงรักษาจิตให้เข้มแข็งผ่องใสบริสุทธิ์ ซึ่งต่างกับการบริหารกาย เพราะการบริหารกายต้องทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่เสมอแต่การบริหารจิต จะต้องฝึกฝนให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งการฝึกจิตให้สงบ คือการทำสมาธินั่นเอง
สมาธิ หมายถึง ภาวะของจิตที่ตั้งมั่น กำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ เรื่องใดเรื่องหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ไม่ฟุ้งซ่านไปหาสิ่งอื่นหรือเรื่องอื่นจากสิ่งที่กำหนด ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งหรืออารมณ์เดียวและจิตตั้งมั่นนั้นจะต้องเป็น กุศล ลักษณะของสมาธิ คือ จิตจะเกิดความสงบ เยือกเย็น สบายใจ มีความผ่อนคลาย เอิบอิ่มใจ ปลอดโปร่ง และมีความสุข
ในวันหนึ่ง ๆ จิตของเราคิดเรื่องต่าง ๆ มากมาย จิตย่อมจะเหนื่อยล้า หากไม่ได้มีการบำรุงรักษาหรือบริหารจิตของเราให้เข้มแข็งผ่องใสบริสุทธิ์ จิตจะอ่อนแอ หวั่นไหวต่อเหตุการณ์รอบตัวได้ง่าย เช่น บางคนจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาจนเกินเหตุ เมื่ออยู่ในอาการตกใจ เสียใจ โกรธ ดีใจ หรือเกิดความอยากได้ เพราะจิตใจอ่อนแอ ขุ่นมัว
การทำจิตใจให้ผ่องใสหรือการฝึกจิต คือ การฝึกจิตให้มีสติสามารถควบคุมจิตใจให้จดจ่อกับสิ่งที่เรากระทำ โดยระลึกอยู่เสมอว่า ตนกำลังทำอะไรอยู่ ต้องทำอย่างไร พร้อมกับระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือมีสมาธินั่นเอง เป็นการควบคุมจิตใจให้จดจ่อแน่วแน่อยู่กับสิ่งใด สิ่งหนึ่ง โดยไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะหยุดทำสมาธิ
1.1 วิธีปฏิบัติการบริหารจิต
1.เลือกสถานที่ที่เหมาะสม เช่น สถานที่ปลอดโปร่งไม่มีเสียงรบกวน
2.เลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น ตอนเช้า ก่อนนอน เวลาที่ใช้ไม่ควรนานเกินไป
3.สมาทานศีล เป็นการแสดงเจตนาเพื่อทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด
4.นมัสการพระรัตนตรัยและสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
5.ตัดความกังวลต่างๆ ออกไป
ขั้นตอนปฏิบัติ
1.นั่งท่าสมาธิ คือ นั่งขัดตะหมาด เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งตัวตรง ดำรงสติมั่น
2.หลับตาหรือลืมตาก็ได้ อย่างไหนได้ผลดีก็ปฏิบัติอย่างนั้น
3.กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจกระทบตรงไหนก็รู้ชัดเจนให้กำหนดตรงจุดนั้น
4.เมื่อลมหายใจ-ออก จะกำหนดภาวนาด้วยหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่บุคคลที่ปฏิบัติ
5.ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนได้เวลาพอควรแก่ร่างกาย จึงออกจากการปฏิบัติ
6.แผ่เมตตาให้ตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลายการปฏิบัติระยะแรกๆ จิตอาจฟุ้งซ่าน สงบได้ยาก หรือไม่นาน ต้องใช้ความเพียรพยายาม หมั่นฝึกปฏิบัติบ่อยๆ จิตจึงจะค่อยสงบตามลำดับ ผลที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ จิตใจสงบ เยือกเย็น แจ่มใส เบิกบาน มั่งคง เข้มแข็ง มีพลัง มีความจำดีขึ้น และที่สำคัญ คือ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นตามมาด้วย
ประโยชน์ของการบริหารจิต
การบริหารจิตอยู่เป็นประจำ ย่อมได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ด้านการดำรงชีวิตประจำวัน ได้แก่ การทำจิตใจสบาย ไม่มีความวิตกกังวล ความเครียด มีความจำดีขึ้น แม่นยำขึ้น ทำสิ่งต่างๆ ไม่ผิดพลาดหรือผิดพลาดน้อย เพราะมีสติสมบูรณ์ขึ้น การศึกษาเล่าเรียนและการทำงาน เกิดผลดีและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การมีจิตเป็นสมาธิ ยังทำให้นอนหลับง่ายและหลับสนิท รวมทั้งมีผลเกื้อกูลต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ชะลอความแก่ ทำให้ดูอ่อนกว่าวัย และรักษาโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดัน โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น
2. ด้านการพัฒนาบุคลิกภาพ ได้แก่ ทำให้บุคลิกภาพเข็มแข็ง หนักแน่นมั่นคง สงบเยือกเย็น ไม่ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด มีความสุภาพอ่อนโยน ดูสง่ามีราศี องอาจน่าเกรงขาม มีอารมณ์เบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า ไม่เซื่องซึม สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ได้
3. ด้านประโยชน์สูงสุด ได้แก่ การบรรลุมรรคและนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ผู้ที่จะบรรลุถึงประโยชน์ระดับนี้ได้นั้น ต้องมีจิตที่สงบแน่วแน่มาก คือ ต้องได้สมาธิระดับสูง
การบริหารจิตตามหลักสติปัฏฐาน
สติปัฏฐาน 4 หรือ ฝึกสมาธิโดยใช้สติเป็นตัวนำ เรียกกันโดยทั่วไปว่าสติปัฏฐาน เป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่นิยมกันมาก และยกย่องนับถืออย่างสูง ถือว่ามีพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนาในตัว
มีพุทธพจน์ในมหาสูตรปัฏฐานสูตรว่า “…ภิกษุ ทั้งหลาย ทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกและปริเทวะ เพื่อความอัศดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุโลกุตรมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนี้คือสติปัฏฐาน 4…”
สติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วย
1.กายานุปัสสนา การพิจารณากายหรือตามดูรู้ทันกาย การตั้งสติอยู่ที่กิริยาของกาย มีอยู่หลายจุดได้แก่
1) อานาปานสติ คือการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
2) กำหนดอิริยาบถ คือเมื่อยืน เดิน นั่ง นอน หรือร่างกายอยู่ในอาการอย่างไร ก็รู้ชัดในอาการที่เป็นอยู่นั้น
3) สัมปชัญญะ คือสร้างสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ในการกระทำหรืออาการเคลื่อนไหวทุกอย่างของกาย เช่น การก้าวเดิน การนุ่งห่มผ้า การกิน การอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้
4) ปฏิกูลมนสิการ คือการพิจารณาร่างกายของตนตั้งแต่ศีรษะ จรดปลายเท้า ซึ่งมีส่วน ประกอบ ที่ไม่สะอาด มากมายมารวมอยู่ด้วยกัน
5) นวสีวถิกา คือการมองเห็นศพที่อยู่ในสภาพต่างๆกันโดยระยะเวลา 9 ระยะ ตั้งแต่ตายใหม่ๆไปจนถึงกระดูกผุๆ แล้วย้อนมาดูร่างกายของตน ก็ต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
2. เวทนานุปัสสนา เป็นการตั้งสติ ตามดูรู้ทันเวทนา คือเมื่อเกิดความรู้สึกสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆก็ดี ก็ให้รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ขณะนั้น
3.จิตตานุปัสสนา เป็นการตั้งสติ ตามดูรู้ทันจิต คือจิตของตนในขณะนั้นเป็นอย่างไร เช่นมีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ ฯลฯ ก็รู้ชัดตามที่มันเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ
4. ธัมมานุปัสสนา เป็นการตั้งสติ การตามดูรู้ทันธรรม ได้แก่
1) นิวรณ์ 5 คือ รู้ชัดในกามฉันท์ พยาบาท เฉื่อยชา ฟุ้งซ่าน ลังเล ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร ให้รู้ชัดตามที่เป็นไปในขณะนั้น
2) ขันธ์ 5 คือกำหนดรู้ว่าขันธ์ 5 แต่ละอย่างๆ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร (ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ)
3) อายตนะ คือรู้ชัดในอายตนะการสัมผัสของประสาททั้ง 5 ว่าตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร เป็นสิ่งใดแน่ เป็นต้น
4) โพชฌงค์ 7 คือรู้ชัดในขณะนั้นๆว่า สติ ธรรม วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา มีปรากฏอยู่ในใจตนหรือไม่ ถ้ายังไม่ปรากฏ จะปรากฏได้อย่างไร ที่ปรากฏแล้ว เจริญบริบูรณ์หรือไม่
5) อริยสัจ คือรู้ชัดในทุกข์ที่เกิด ว่าเกิดจากอะไร มีเหตุอย่างไร และจะดับได้ด้วยมรรคใด
การพิจารณาสติปัฏฐานทั้ง 4 ไม่ จำเป็นต้องหลีกหนีออกจากสังคม เพื่อไปนั่งปฏิบัติจำเพาะในกาลเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ควรปฏิบัติในชีวิตประจำ เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ก็ใช้สติพิจารณาทันที เพราะโดยสาระของสติปัฏฐาน มีจุดที่ควรพิจารณาใช้สติกำกับดูแลทั้งหมดเพียง 4 จุด คือ
1.ร่างกายและพฤติกรรมของมัน (กายานุปัสสนา)
2. เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ต่างๆ (เวทนานุปัสสนา)
3. ภาวะจิตที่เป็นไปต่างๆ (จิตตานุปัสสนา)
4. ความนึกคิดไตร่ตรองในธรรม ได้แก่ นิวรณ์ ขันธ์ 5 อายตนะ และ อริยสัจ (ธัมมานุปัสสนา)
ขอบคุณ แหล่งข้อมูล https://sites.google.com/site/physicsofm4/home/bth-thi7-kar-brihar-cit-laea-kar-ceriy-payya