การเกิดฤดูกาล ตามภูมิศาสตร์
ฤดูกาลเกิดขึ้นเนื่องจาก พื้นผิวส่วนต่าง ๆ ของโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน เพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปพร้อมกับการหมุนรอบตัวเอง ประกอบกับแกนโลกที่เอียง 23.5 องศา รวมไปถึงวงโคจรของโลกเคลื่อนที่ไปในลักษณะที่ไม่ใช่วงกลมสมบูรณ์ ทำให้มีพื้นที่บางส่วนของโลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้น ในขณะที่บางส่วนได้รับแสงอาทิตย์น้อยกว่าบริเวณอื่น ๆ ดังนั้น ในแต่ละฝั่งและภูมิภาคของโลกจึงเกิดเป็นฤดูกาลต่าง ๆ ตามปริมาณ และระยะเวลา ที่ได้รับแสงอาทิตย์
แล้วเขตขั้วโลกและเขตละติจูดต่ำมีกี่ฤดู?
ในเขตขั้วโลก ได้แก่ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และเขตละติจูด 60 องศาขึ้นไป จะเป็นเขตที่มี 2 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูหนาว เนื่องจากพื้นที่ซึ่งเป็นขั้วบนสุดและขั้วล่างสุดของโลกมีมุมของการได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์น้อย ทำให้บริเวณขั้วโลกส่วนใหญ่มีอากาศหนาว ถึงแม้จะเป็นฤดูร้อนก็ตาม
ส่วนในเขตละติจูดต่ำ คือ เขตละติจูด 0-30 องศาเหนือและใต้ หรือที่เรียกว่า เขตร้อน ส่วนใหญ่อากาศจะร้อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงอาทิตย์ยาวนาน ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเท่ากับเขตละติจูดสูงเพราะได้รับแสงอาทิตย์ตลอดทั้งปี ต้นไม้จึงไม่มีการผลัดใบ บริเวณนี้ได้แก่ ประเทศที่อยู่แถบเส้นศูนย์สูตร เช่น ประเทศทวีปอเมริกาใต้ อเมริกากลาง ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชียส่วนใหญ่ รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ซึ่งประเทศแถบนี้จะมีฤดูกาลใหญ่ ๆ 3 ฤดูด้วยกัน คือ ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน
แล้วฤดูฝนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ประเทศไทยเรามี 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว การที่พื้นที่เขตร้อนมีฤดูฝนเนื่องจากเป็นเขตที่มีมรสุมพาดผ่าน ซึ่งบริเวณแถบนี้อยู่ใกล้กับทะเล หรือมหาสมุทร จึงได้รับอิทธิพลของลมมรสุม อย่างประเทศไทยตั้งอยู่เหนือบริเวณเส้นศูนย์สูตร ทำให้ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดฤดูฝนและฤดูหนาว
การหมุนเวียนของบรรยากาศ และอิทธิพลของฤดูกาล
เมื่อเราพูดถึง “ลม” เราหมายถึงการเคลื่อนที่หมุนเวียนถ่ายเทของอากาศ ในลักษณะเป็นวงรอบ (Circulation) ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความแตกต่างของความกดอากาศ (อุณหภูมิ) เหนือพื้นผิว การหมุนเวียนอากาศมีทั้งวงรอบขนาดเล็ก ปกคลุมพื้นที่เพียงไม่ถึงตารางกิโลเมตร และวงรอบขนาดใหญ่ ปกคลุมพื้นที่ทั้งทวีปและมหาสมุทร เราแบ่งสเกลการหมุนเวียนอากาศ
ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
สเกล
|
ช่วงเวลา
|
ขนาด (ระยะทาง)
|
ตัวอย่าง
|
ระดับใหญ่ (Macroscale) โลก ทวีป |
สัปดาห์ – ปี
วัน – สัปดาห์ |
1,000 – 40,000 กิโลเมตร 100 – 5,000 กิโลเมตร |
ลมค้า ลมเวสเทอรีส ์ลมมรสุม ไซโคลน พายุไต้ฝุ่น เฮอริเคน |
ระดับกลาง (Mesoscale) |
นาที – ชั่วโมง
|
1 – 100 กิโลเมตร | ลมบก-ลมทะเล พายุฝนฟ้าคะนอง |
ระดับเล็ก (Microscale) |
วินาที – นาที
|
ี <1 กิโลเมตร | ลมบ้าหมู ลมกรรโชก |
ระบบลมท้องถิ่น
ลมท้องถิ่น (Local winds) เป็นลมซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวัน คลอบคลุมพื้นที่ขนาดจังหวัด การหมุนเวียนของอากาศในสเกลระดับกลางเช่นนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และความแตกต่างของอุณหภูมิภายในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ลมบก-ลมทะเล ลมภูเขา-ลมหุบเขา
ภาพที่ 1 ลมบก ลมทะเล
ลมบก – ลมทะเล
เวลากลางวัน พื้นดินดูดกลืนความร้อนเร็วกว่าพื้นน้ำ อากาศเหนือพื้นดินร้อนและขยายตัวลอยสูงขึ้น (ความกดอากาศต่ำ) อากาศเหนือพื้นน้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่า (ความกดอากาศสูง) จึงจมตัวและเคลื่อนเข้าแทนที่ ทำให้เกิดลมพัดจากทะเลเข้าสู่ชายฝั่ง เรียกว่า “ลมทะเล” (Sea breeze)
เวลากลางคืน พื้นดินคลายความร้อนได้เร็วกว่าพื้นน้ำ อากาศเย็นเหนือพื้นดินจมตัวลง (ความกดอากาศสูง) และเคลื่อนตัวไปแทนที่อากาศอุ่นเหนือพื้นน้ำซึ่งยกตัวขึ้น (ความกดอากาศต่ำ) จึงเกิดลมพัดจากบกไปสู่ทะเล เรียกว่า “ลมบก” (Land breeze)
ภาพที่ 2 ลมหุบเขา ลมภูเขา
ลมหุบเขา – ลมภูเขา
เวลากลางวัน พื้นที่บริเวณไหล่เขาได้รับความร้อนมากกว่าบริเวณพื้นที่ราบหุบเขา ณ ระดับสูงเดียวกัน ทำให้อากาศร้อนบริเวณไหล่เขายกตัวลอยสูงขึ้น (ความกดอากาศต่ำ) เกิดเมฆคิวมูลัสลอยอยู่เหนือยอดเขา อากาศเย็นบริเวณหุบเขาเคลื่อนตัวเข้าแทนที่ จึงเกิดลมพัดจากเชิงเขาขึ้นสู่ลาดเขา เรียกว่า “ลมหุบเขา” (Valley breeze) หลังจากดวงอาทิตย์ตก พื้นที่ไหล่เขาสูญเสียความร้อน อากาศเย็นตัวอย่างรวดเร็ว จมตัวไหลลงตามลาดเขา เกิดลมพัดลงสู่หุบเขา เรียกว่า “ลมภูเขา” (Mountain breeze) ในบางครั้งกลุ่มอากาศเย็นเหล่านี้ปะทะกับพื้นดินในหุบเขาซึ่งยังมีอุณหภูมิสูงอยู่ จึงควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ ทำให้เกิดหมอก (Radiation fog)
แหล่งข้อมูล
ABC. Spring, summer, autumn and winter — why do we have seasons? สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2561
Space. On Fourth of July, Earth Is Farthest from the Sun. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2561
SciShow. Why do we have seasons? สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2561
EarthSky. Why Earth has 4 seasons. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2561
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. ฤดูกาล. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2561