การนำข้อมูลมาใช้ในการเรียน การทำงาน และการตัดสินใจ จะต้องพิจารณาความถูกต้องของ้อมูลที่นำมาจากหลายแหล่งข้อมูล โดยต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ มีความถูกต้องสมบูรณ์ สอดคล้องกับความต้องการและมีความทันสมัย นักเรียนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล โดยใช้ “พรอมท์” ได้แก่ การนำเสนอ ความสัมพันธ์ วัตถุประสงค์ วิธีการ แหล่งที่มา และเวลา (Presentation, Relevance, Objectivity, Method, Provenance, Timeliness: PROMPT) ดังนี้
-
Presentation – การนำเสนอ (มีการวางเค้าโครงที่เหมาะสม มีรายละเอียดชัดเจน ไม่คลุมเครือ ใช้ภาษาและสำนวนถูกต้อง เนื้อหามีความกระชับ)
-
Relevance – ความสัมพันธ์ (ความสอดคล้องของข้อมูลกับสิ่งที่ต้องการ ไม่ขัดแย้งกับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง)
-
Objectivity – วัตถุประสงค์ (มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ไม่แสดงความคิดเห็นหรือมีเจตนาแอบแฝง)
-
Method – วิธีการ (มีการวางแผนในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ)
-
Provenance – แหล่งที่มา (มีการระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน)
-
Timeliness – เวลา (มีความทันสมัย เป็นปัจจุบัน ระบุช่วงเวลาที่สร้างข้อมูล)
การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มาของข้อมูล
การค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ หรือแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อนำไปใช้งานและอ้างอิง จำเป็นต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มาของข้อมูลก่อน ไม่เช่นนั้นอาจได้ข้อมูลที่ขาดความถูกต้อง และเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบดังนี้
-
บอกวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่อย่างชัดเจน
-
นำเสนอเนื้อหาตรงตามวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูล
-
มีเนื้อหาไม่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรม จริยธรรม
-
ระบุชื่อผู้เขียนบทความ หรือผู้ให้ข้อมูลบนเว็บไซต์
-
อ้างอิงแหล่งที่มาหรือแห่งต้นตอของข้อมูล
-
สามารถเชื่อมโยง (link) ไปเว็บไซต์ที่อ้างอิงถึงเพื่อตรวจสอบต้นตอของข้อมูลได้
-
ระบุวันเวลาในการเผยแพร่ข้อมูล
-
มีช่องทางติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์
-
มีช่องทางให้แสดงความคิดเห็น
-
มีข้อความเตือนผู้อื่นให้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจใช้ข้อมูล
บางเว็บไซต์อาจใช้ชื่อคล้ายหน่วยงานราชการที่เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เว็บไซต์เหล่านี้อาจให้ข้อมูลที่คาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผู้ใช้ควรสังเกตให้รอบคอบและตรวจสอบว่าเป็นเว็บไซต์ที่แท้จริงของหน่วยงานนั้น โดยสามารถตรวจสอบชื่อเว็บไซต์และข้อมูลต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์ที่ให้บริการตรวจสอบ เช่น whois.domaintools.com
2 เหตุผลวิบัติ
การให้เหตุผลเป็นวิธีการหนึ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อคิดเห็นหรือข้อสรุปต่างๆ การให้เหตุผลที่เหมาะสม มีส่วนทำให้การตัดสินใจยอมรับความเห็นและข้อสรุปทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การให้เหตุผลมีทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม
การให้เหตุผลที่ไม่เหมาะสม พบเห็นได้มากขึ้นในปัจจุบัน โดยผู้ให้เหตุผลอาจมีเจตนาบิดเบือนความจริงหรือคิดไปเอง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จนทำให้เหตุผลเหล่านี้อาจกลายเป็น “เหตุผลวิบัติหรือตรรกะวิบัติ” ได้
เหตุผลวิบัติ (logical fallacy)
เป็นการโต้แย้งโดยให้เหตุผลที่คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง หรือมีความจริงเพียงบางส่วน จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่มีความขัดแย้งกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น การโต้แย้งบนเว็บบอร์ดหรือเครือข่ายทางสังคม ที่มีการใช้ข้อความประชดประชัน การใช้ความรู้สึกส่วนตัว การใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech)
กระบวนการเหล่านี้ อาจนำไปสู่การสรุปผลหรือตีความข้อสรุปจากการโต้แย้งที่ไม่ได้นำข้อเท็จจริงมาพิจารณา ทำให้ผู้รับสารได้รับข่าวสารที่คลาดเคลื่อน อีกทั้งผู้คนบางส่วนพยายามใช้ความเข้าใจหรือความเชื่อส่วนตัวที่อาจะไม่ถูกต้องมาเป็นเหตุผลในการสรุปประเด็นต่างๆ แม้ผลสรุปสุดท้ายจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม
เหตุผลวิบัติจำแนกได้ 2 แบบ ดังนี้
-
เหตุผลวิบัติแบบเป็นทางการ เกิดจากการให้เหตุผลที่ใช้หลักตรรกะไม่ถูกต้อง แต่เขียนอยู่ในรูปแบบที่เป็นทางการทำให้ดูสมเหตุสมผล เช่น การที่ผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งหาเสียงว่าหากเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง จะมีการพัฒนาหมู่บ้าน สร้างความเจริญ แต่ในความจริง แม้ชนะการเลือกตั้ง ผู้ชนะการเลือกตั้งก็อาจได้พัฒนาหมู่บ้านก็ได้
-
เหตุผลวิบัติแบบไม่เป็นทางการ เกิดจากการให้เหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักตรรกะในการพิจารณา แต่เป็นการสันนิษฐานหรือเล่นสำนวน ซึ่งเกิดจากการใช้ภาษาชักนำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น การพูดกำกวม หรือการพูดมากเกินความจำเป็น
ตัวอย่างเหตุผลวิบัติแบบไม่เป็นทางการ
-
อ้างถึงลักษณะตัวบุคคล เช่น ผู้ใหญ่บางคนมักไม่สนใจข้อเสนอแนะของเด็กๆ เพราะความเป็นเด็กทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ แม้ความคิดเห็นนั้นจะมีเนื้อหาสาระ
-
อ้างถึงผู้พูดว่ามีพฤติกรรมขัดแย้งกับสิ่งที่พูด เช่น ผู้ใหญ่สอนเด็กๆ ว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดี แต่หากผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่เป็นคนพูด เด็กๆ ก็จะเห็นความขัดแย้งที่ผู้ใหญ่สอน
-
อ้างถึงความน่าสงสาร หรือความเห็นอกเห็นใจ เช่น ผู้หญิงขโมยนมในร้านสะดวกซื้อ เพื่อนำนมไปเลี้ยงลูก โดยอ้างว่าที่ทำไปเพราะยากจน
-
อ้างถึงคนส่วนใหญ่ปฏิบัติเหมือนกัน เช่น การฝ่าฝืนข้อปฏิบัติจราจร โดยอ้างว่าใครๆ ก็ฝ่าฝืนกัน
-
ให้เหตุผลโดยสร้างทางเลือกไว้ 2 ทาง แต่ความจริงอาจมีทางเลือกอื่นๆ เช่น นักเรียนถูกเพื่อนคนหนึ่งต่อต้าน เพราะชื่นชอบนักแสดงคนที่เพื่อนคนนั้นไม่ชอบ
-
ให้เหตุผลเกินกว่าความจริงไปมาก เช่น นักเรียนใส่หน้ากากอนามัยมาโรงเรียน แล้วเพื่อนพูดประชดว่าให้ใส่ชุดปลอดเชื้อมาโรงเรียน
-
เบี่ยงเบนประเด็นการโต้แย้งของผู้อื่นให้กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วโจมตีจากประเด็นที่ถูกบิดเบือนนั้น เช่น การใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการศึกษา แต่ถูกมองว่าใช้เพื่อความบันเทิง และเล่นเกม
-
อ้างเหตุผลว่ามีสิ่งพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ทั้งที่ประเด็นกล่าวอ้างไม่เกี่ยวกับสิ่งที่โต้แย้งอยู่เลย เช่น การใช้ตำแหน่งและหน้าที่ที่สูงผู้อื่น เพื่ออ้างถึงสิทธิพิเศษในการทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
-
ให้เหตุผลโดยเชื่อคนมีชื่อเสียง เช่น การเลือกซื้อสินค้าตามอย่างผู้มีชื่อเสียง แม้สินค้านั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับผู้ซื้อก็ตาม
3 การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย
การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น ใช้งานทั่วไป สนับสนุนการทำงาน ทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (electronic transaction) โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน
3.1 การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย
การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น หลังรัฐบาลไทยได้ให้ธนาคารต่างๆ เปิดโครงการพร้อมเพย์ (prompt pay) เพื่อให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โอนเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการ ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องระมัดระวังและมีความรอบคอบ เช่น เลือกซื้อสินค้าออนไลน์จากผู้ขายที่มีไว้ใจได้ เพื่อป้องกันการฉ้อโกง สินค้าไม่มีคุณภาพ หรือได้รับสินค้าที่ตรงกับข้อมูลที่ปรากฏ
การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มี 2 รูปแบบ คือ
-
การทำธุรกรรมโดยตรงระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ – ทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายทางสังคมหรือผ่านเว็บไซต์ของผู้ขาย เช่น การจองที่พักโรงแรม, ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ผู้ผลิตโดยตรง
-
การทำธุรกรรมโดยผ่านผู้ให้บริการ – ทำธุรกรรมผ่านผู้ให้บริการสนับสนุนการดำเนินการหรือตัวกลาง โดยผู้ให้บริการจะรวบรวมสินค้าและบริการต่างๆ ให้อยู่ในที่เดียว เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและใช้บริการทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ให้บริการ (ตัวกลาง) คอยตรวจสอบผู้ขายและรับประกันในส่วนของสินค้าและบริการ เช่น ebay.com, lazada.co.th, shopee.co.th
สิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องคำนึงถึงในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คือ อาจถูกมิจฉาชีพฉ้อโกง โดยใช้กลยุทธ์เรื่องราคาและหลักจิตวิทยาในการล่อลวงให้เกิดความโลภ หรือเข้าใจผิด เช่น ขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าปกติมาก ขายสินค้าเลียนแบบโดยให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของแท้
ผู้ใช้บริการควรมีความระมัดระวังในการเลือกชำระค่าสินค้าหรือบริการ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น
-
โอนค่าสินค้าผ่านธนาคาร แล้วส่งหลักฐานยืนยันให้ผู้ขายส่งสินค้าในภายหลัง
-
ชำระเงินภายหลังจากได้รับสินค้า (เก็บเงินปลายทาง)
-
ชำระผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคาร ซึ่งต้องใช้หมายเลขบัตร วันหมดอายุ รหัสยืนยันบัตร (Card Verification Value: CVV) การยืนยันรหัสการทำธุรกรรมโดยใช้รหัสผ่านครั้งเดียว (One Time Password: OTP)
-
ชำระผ่านตัวกลางชำระเงิน เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ รับชำระเงินโดยเติมเงินเข้ากับบัญชีที่ผูกเข้ากับหมายเลขโทรศัพท์ สามารถทำธุรกรรมได้เสมือนบัญชีธนาคาร
3.2 การรู้เท่าทันสื่อ
เป็นความสามารถในการป้องกันตนเองจากการถูกโน้มน้าวด้วยเนื้อหาที่เป็นเท็จและมีผลกระทบต่อผู้รับสื่อ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการตลาดหรือผลประโยชน์ที่นำเสนอ การรู้เท่าทันสื่อ ผู้รับสารต้องสามารถตีความ วิเคราะห์ แยกแยะเนื้อหาสาระของสื่อ คิดก่อนนำไปเผยแพร่
การรู้เท่าทันสื่อสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
-
ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกและจัดสรรเวลาในการใช้สื่อ
-
เรียนรู้ทักษะการรับสื่อแบบวิพากษ์ วิเคราะห์และตั้งคำถามว่าสื่อนั้นถูกสร้างขึ้นอย่างไร น่าเชื่อถือหรือไม่
-
วิเคราะห์สื่อในเชิงสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์
3.3 ข่าวลวงและผลกระทบ
ข่าวลวง (fake news) เป็นรูปแบบหนึ่งของการก่อกวน ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเป็นเท็จ มีวัตถุประสงค์แอบแฝงที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อขายสินค้า ทำให้เข้าใจผิด สร้างความสับสน โดยข่าวลวงอาจแพร่ผ่านอีเมล์ หรือเครือข่ายทางสังคม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ผู้รับข่าวสารต้องมีวิจารณญาณเพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่น ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและสังคมลักษณะของข่าวลวง เช่น
-
สร้างเรื่องราวเพื่อเป็นจุดสนใจในสังคม
-
สร้างความหวาดกลัว
-
กระตุ้นความโลภ
-
สร้างความเกลียดชัง
การออกข้อกำหนด ระเบียบ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ประเทศไทยมีการออกพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และปรับปรุงมีความทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ โดยรายละเอียดสามารถศึกษาได้จาก พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560
5 การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม
“ลิขสิทธิ์ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน”
ผู้ใดต้องการใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ (copyright) ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครอง แต่ก็มีข้อยกเว้นให้ใช้งานได้บางอย่างโดยไม่ต้องขออนุญาต หรือที่เรียกว่า การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) เช่น ใช้ในการเรียนการสอน การรายงานข่าว แต่ต้องไม่กระทบกับเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยมีหลักพิจารณาดังนี้
-
วัตถุประสงค์และลักษณะการใช้งาน (ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าหรือหากำไร ไม่มีเจตนาทุจริต ใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคม)
-
ลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ (พิจารณาจากความพยายามที่ใช้สร้างสรรค์ผลงาน หากผลงานใดที่ใช้ความพยายามสูงในการสร้างสรรค์ ไม่ควรนำผลงานนั้นไปใช้ เช่น นวนิยาย, การรายงานเหตุการณ์ที่เฉพาะ)
-
ปริมาณของการนำไปใช้ (นำผลงานไปใช้ในปริมาณมาก หรือแม้ใช้ปริมาณน้อยแต่เป็นจุดสำคัญ ถือเป็นการใช้งานที่ไม่เป็นธรรม)
-
ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ (ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโชน์ตามปกติของเจ้าของผลงาน เพราะอาจทำให้ผลงานนั้นขายไม่ได้)