กำหนดการเชิงเส้น (linear programming) เป็นวิธีการทางคณิตศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2483 เพื่อช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำว่า ทรัพยากร ในที่นี้หมายถึง เครื่องจักร กำลังคน วัตถุดิบ เวลา หรือเงินลงทุนก็ได้ วิธีการของกำหนดการเชิงเส้นทำให้เราทราบว่าควรตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนอย่างไร จึงจะได้ผลกำไรสูงสุดภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนที่มีอยู่ ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้วิธีการกำหนดการเชิงเส้นในหลายวงการ เช่น
ทางด้านการผลิต นำไปช่วยในการวางแผนการผลิตเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ในขณะที่เครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีอยู่จำนวนจำกัด หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการวางแผนการผลิตเพื่อให้เกิดต้นทุนการผลิตต่ำสุด ภายใต้ข้อจำกัดของเครื่องมือและวัตถุดิบที่มีอยู่
ทางด้านโภชนาการ นำไปช่วยในการวางแผนการจัดอาหารเพื่อให้ร่างกายได้รับคุณค่าทางอาหารเพียงพอกับความต้องการ โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
ทางด้านการศึกษา นำไปช่วยในการวางแผนการบริหารงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดเช่น สามารถรับนักเรียน เข้าศึกษาได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครู และสถานที่ เป็นต้น
ทางด้านประสิทธิภาพในการทำงาน นำไปช่วยในการจัดเวลาที่มีอยู่จำกัดให้สามารถจัดกิจกรรมที่มีอยู่หลาย ๆ อย่าง เกิดผลที่มีประโยชน์สูงสุด
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว กำหนดการการเชิงเส้นยังสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาทางด้านอื่น ๆ เช่น ทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ทางด้านสังคมศาสตร์ เป็นต้น