ภาษีเป็นภาระที่ประชาชนมีหน้าที่ต้องนำส่งให้ภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อสนับสนุนรัฐและกิจการของรัฐ เพราะรัฐที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนซึ่งต้องนำเงินภาษีดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศ เช่น การบริการด้านสาธารณสุข ไฟฟ้า ประปา การเดินทาง เป็นต้น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีทางอ้อม ที่จัดเก็บจากฐานผู้บริโภคจากการขายสินค้าหรือบริการ และการนำเข้าสินค้า โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีประเภทนี้
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ภาษีมูลค่าเพิ่มจะคํานวณจากยอดมูลค่าของสินค้าหรือบริการ ตามอัตราภาษีที่กำหนด ปัจจุบัน (พ.ศ.2563) เราคนไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (อัตราร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าหรือบริการ) ซึ่งเป็นอัตราคงที่ โดยคำนวณมาจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% + ภาษีท้องถิ่น 0.7% = 7%
ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เราเรียกว่าเป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นบุคคลที่มีรายได้ที่จะต้องภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต่อได้
ตัวอย่างเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่พบได้ในชีวิตประจำวัน
ในชีวิตประจำวันเราซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่าง ๆ จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยราคาที่เราเห็นในป้ายราคาของสินค้าหรือฉลากสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปกับสินค้าแล้ว แต่ในบางกรณีก็อาจจะยังไม่รวมก็ได้
ตัวอย่างที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งราคา 550 บาท ผู้ซื้อต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% จงหาว่า ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จำนวนเท่าไหร่
วิธีคิด ผลิตภัณฑ์ราคา 100 บาท ผู้ซื้อต้องจ่ายเงิน 100+7 = 107 บาท
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ราคา 550 บาท ผู้ซื้อต้องจ่ายเงิน (107/100) X 550 = 588.50 บาท
-ขอบคุณข้อมูล https://www.scimath.org/