ความคิดสร้างสรรค์กับนวัตกรรม
ปัจจุบันมีการกล่าวถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์กันอย่างแพร่หลายแม้กระทั่งในบทความของเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21th Century Skill.) ก็มีการกล่าวอ้างถึงความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) ซึ่งประกอบไปด้วยการคิดอย่างมีวิจารณญาน (critical thinking) การสื่อสาร (communication) ความร่วมมือ (collaboration) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ในยุคปัจจุบัน
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม:
– คุณภาพของความคิดใหม่ ๆ และนำไปสู่ความเป็นจริงคือความคิดสร้างสรรค์ ส่วนการดำเนินการตามความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ๆออกมา ในการปฏิบัติคือนวัตกรรม
– ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการจินตนาการ ส่วนนวัตกรรมเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิผลออกมาเป็นรูปธรรม
– ความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถวัดผลได้ แต่นวัตกรรมสามารถวัดผลได้
– ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวข้องกับการสร้างความคิดที่ใหม่และไม่เหมือนใคร ตรงกันข้ามนวัตกรรมเกี่ยวข้องกับการนำเสนอสิ่งที่ดีกว่าเข้าสู่ตลาด
– ความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน (หรืออาจจะใช้น้อยในการจัดระดมสมอง,สำรวจ เป็นต้น) ในทางกลับกันนวัตกรรมต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการค้นคว้า ทดสอบ ผลิตออกมา
– ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์หรือมีความเสี่ยงน้อย ในขณะการพัฒนานวัตกรรมมักจะมีความเสี่ยงในด้านต่างๆเสมอ
รายละเอียด | ความคิดสร้างสรรค์ | นวัตกรรม |
ความหมาย | – Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ จะเป็นการกระทำ หรือกระบวนการที่สร้างความคิดใหม่ๆ ออกมา | – นวัตกรรม (Innovation) เป็นการพัฒนาหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เช่น บริการ ผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการใหม่ๆ (Service, Product, Process) เป็นต้น ที่มีคุณค่ามีประโยชน์ ( Value Creation ) และสามารถนำมาส่งต่อหรือขยายได้ในเชิงพาณิยช์ (Commercial) |
กระบวนการ | – อยู่ในรูปของ จินตนาการหรือนามธรรม | – มีผลผลิตออกมาเป็นรูปธรรม |
ลักษณะ | – เป็นการคิดสิ่งใหม่ | – เป็นการพัฒนาสิ่งใหม่ๆออกมา |
ด้านการเงิน | – ไม่มีหรือลงทุนน้อย | – มีการลงทุนสูง |
ความเสี่ยง | – ไม่มี | – มีความเสี่ยงสูง |
มีผู้ให้ความหมายของคำว่าความคิดสร้างสรรค์ไว้หลายความหมาย เช่น เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2545) ได้ให้ความหมายว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (Creative thinking) การขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่สู่ความคิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะที่สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2551) ได้ให้ความหมายว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นความสามารถทางสมองมนุษย์ที่คิดได้กว้างไกลหลายแง่มุม หลายทิศทางนำไปสู่การคิดประดิษฐ์สิ่งของและแนวทางการแก้ปัญหาใหม่
โดยรวมแล้วความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องของการคิดเพื่อการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ หรือเพื่อการพัฒนาต่อยอดของเดิม นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการคิดเพื่อแก้ปัญหาอีกด้วยโดยความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ (workable) ไม่ใช่แค่การเพ้อฝันเท่านั้นและต้องมีความเหมาะสม (appropriate) ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งแปลกใหม่แต่ต้องมีองค์ประกอบของความมีเหตุมีผลและคุณค่าภายใต้ที่ยอมรับกันทั่วไป ซึ่งลักษณะของความคิดสร้างสรรค์แบ่งได้เป็น 4 ลักษณะด้วยกัน (Torrance, 1979) ได้แก่
- ความคิดริเริ่ม (originality) เป็นลักษณะความคิดที่แปลกใหม่ แตกต่างจากความคิดเดิม ประยุกต์ให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นที่ไม่ซ้ำของเดิม
- ความคิดคล่อง (fluency) เป็นความสามารถในการคิดหาคำตอบได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็วและมีปริมาณมากในเวลาอันจำกัด
- ความคิดยืดหยุ่น (flexibility) เป็นความสามารถในการคิดหาคำตอบได้หลายประเภทและหลายทิศทางดัดแปลงจากสิ่งหนึ่งไปเป็นหลายสิ่งได้
- ความคิดละเอียดลออ (elaboration) เป็นความคิดในรายละเอียดเพื่อตกแต่งหรือขยายความคิดหลักให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูล https://www.scimath.org/