ประวัติองค์การนาซ่า
องค์การนาซา หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration — NASA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ตามพระราชบัญญัติการบินและอวกาศแห่งชาติ เป็นหน่วยงานส่วนราชการ รับผิดชอบในโครงการอวกาศและงานวิจัยห้วงอากาศอวกาศ (aerospace) ระยะยาวของสหรัฐอเมริกา คอยจัดการหรือควบคุมระบบงานวิจัยทั้งกับฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 องค์การนาซาได้ประกาศภารกิจหลักคือการบุกเบิกอนาคตแห่งการสำรวจอวกาศ
คำขวัญขององค์การนาซาคือ “เพื่อประโยชน์ของคนทุกคน”
การแข่งขันในการสำรวจอวกาศ หลังจากสหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก (ดาวเทียมสปุตนิค 1) ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) สหรัฐฯ เริ่มหันมาใส่ใจกับโครงการอวกาศของตนเองมากขึ้น สภาคองเกรสรู้สึกหวั่นเกรงต่อภัยด้านความมั่นคงและภาวะความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของตน ประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ และคณะที่ปรึกษาได้ประชุมหารือกันเป็นเวลานานหลายเดือนจนได้ข้อสรุปว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องก่อตั้งหน่วยงานราชการขึ้นใหม่ ให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมอวกาศทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ลงนามในกฎหมายการบินและอวกาศแห่งชาติ ค.ศ. 1958 เพื่อก่อตั้งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ขณะนั้นนาซาประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ 4 แห่ง มีพนักงานประมาณ 8,000 คน ที่โอนมาจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการบินแห่งชาติ (NACA) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐที่มีอายุกว่า 46 ปี โครงการในระยะแรกของนาซาเป็นการวิจัยโดยมีเป้าหมายส่งมนุษย์ขึ้นไปกับยานอวกาศ ดำเนินไปพร้อมแรงกดดันจากการแข่งขันกับสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามเย็น นาซาเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในห้วงอวกาศด้วยโครงการเมอร์คิวรีในปี พ.ศ. 2501 ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) นักบินอวกาศ อลัน บี. เชเพิร์ด จูเนียร์ กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกในอวกาศ เมื่อเขาเดินทางไปกับยานฟรีดอม 7 ในภารกิจนาน 15 นาที แบบไม่เต็มวงโคจร หลังจากนั้นจอห์น เกล็นน์ กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่โคจรรอบโลกเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ในการขึ้นบินนาน 5 ชั่วโมงกับ ยานเฟรนด์ชิป 7 โครงการอะพอลโล เมื่อโครงการเมอร์คิวรีพิสูจน์และยืนยันว่า การส่งมนุษย์ขึ้นไปโคจรในอวกาศสามารถเป็นไปได้ นาซาจึงเริ่มโครงการอะพอลโล โดยเป็นความพยายามส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ โดยยังไม่มีเป้าหมายส่งมนุษย์เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์แต่อย่างใด ทิศทางของโครงการอะพอลโลเปลี่ยนไปเมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) ว่าสหรัฐอเมริกาจะ “ส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์แล้วกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย” ภายในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970)โครงการอะพอลโลจึงกลายเป็นโครงการนำมนุษย์ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โครงการเจมินีเริ่มต้นขึ้นไม่นานหลังจากนั้น เพื่อทดสอบและยืนยันเทคนิค ที่จำเป็นต้องใช้กับโครงการอะพอลโลที่ซับซ้อนขึ้น หลังจาก 8 ปีของภารกิจเบื้องต้น ซึ่งรวมถึงอุบัติเหตุเพลิงไหม้ที่คร่าชีวิตนักบินอวกาศ 3 คนในยานอะพอลโล 1 โครงการอะพอลโลบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุดเมื่อยานอะพอลโล 11 นำนีล อาร์มสตรอง และบัซซ์ อัลดริน ลงสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) และกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กรกฎาคม ถ้อยคำแรกที่อาร์มสตรองกล่าวหลังจากก้าวออกจากยานลงจอด อีเกิ้ล คือ “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของคน ๆ หนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” หลังจากวันนั้นจนถึงการสิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 มีนักบินอวกาศอีก 10 คนที่ประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ แม้ว่าองค์การนาซาจะทำให้สหรัฐฯ ได้ชัยชนะในการแข่งขันกับโซเวียต แต่ความสนใจของชาวอเมริกันที่มีต่อโครงการอวกาศ อันจะทำให้สภาคองเกรสทุ่มงบประมาณให้กับนาซา กลับลดน้อยถอยลง นาซาสูญเสียผู้สนับสนุนในสภาหลังจากลินดอน บี. จอห์นสัน ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้ที่มีบทบาทในการวิ่งเต้นเพื่อผลักดันงบประมาณให้กับนาซาในเวลาต่อมา คือ เวร์เนอร์ ฟอน บรอน วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านจรวดชาวเยอรมัน เขาเสนอแผนสร้างสถานีอวกาศ ฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์ และโครงการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารภายในปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะประสิทธิภาพของเทคโนโลยีจรวดขณะนั้นยังไม่ดีพอ อุบัติเหตุการระเบิดของถังออกซิเจน ที่เกือบจะเป็นโศกนาฏกรรมกับนักบินบนยานอะพอลโล 13 ทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาสนใจในโครงการอวกาศ อย่างไรก็ตาม ยานอะพอลโล 17 เป็นยานลำสุดท้ายที่ขึ้นบินภายใต้สัญลักษณ์อะพอลโล แม้ว่าโครงการอะพอลโลมีแผนไปถึงยานอะพอลโล 20 โครงการอะพอลโลสิ้นสุดลงก่อนกำหนดเนื่องจากถูกตัดงบประมาณ (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามเวียดนาม) และนาซาปรารถนาที่จะพัฒนายานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
สกายแลปเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา สถานีนี้มีน้ำหนักกว่า 75 ตัน โคจรรอบโลกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ถึงปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) สามารถรองรับคนได้ 3 คนต่อภาระกิจ สกายแลปเป็นสถานีต้นแบบในการเรียนรู้การใช้ชีวิตในอวกาศ และใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์บ้าง เดิมทีสกายแลปวางแผนจะใช้ในการเทียบท่าของกระสวยอวกาศด้วย แต่สกายแลปได้ถูกปลดประจำการก่อนถึงการปล่อยกระสวยอวกาศลำแรก และถูกชั้นบรรยากาศโลกเผาไหม้ทำลายในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) หลังจากปล่อยให้ตกลงในมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกของออสเตรเลีย
อะพอลโล-โซยุส โครงการทดสอบอะพอลโล-โซยุส (Apollo-Soyuz Test Project:ASTP) เป็นการร่วมมือกันระหว่างสหัฐอเมริกาและโครงการอวกาศของโซเวียตในการนำยานอะพอลโลและยานโซยุสมาพบกันในอวกาศ(เชื่อมยานกัน) ในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975)
การบินของโคลัมเบีย กระสวยอวกาศโคลัมเบียได้รับเลือกให้ปฏิบัติภาระกิจมาแล้ว 28 ภาระกิจ ใช้เวลาในอวกาศ 300.74 วัน โคจรรอบโลก 4,808 รอบ และมีระยะการเดินทางรวม 125,204,911 ไมล์ หรือ 201,497,772 กิโลเมตร รวมภาระกิจสุดท้ายด้วย ยานโคลัมเบียเป็นกระสวยอวกาศที่ไม่ได้ถูกใช้งานในโครงการกระสวยอวกาศ-สถานีอวกาศเมียร์ (Shuttle-Mir) และโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อเทียบกับกระสวยลำเอื่นๆ เช่น ดิสคัฟเวอรี,แอตแลนติส และเอนเดฟเวอร์ ที่ได้ติดต่อกับสถานีทั้งหมด ชาเลนเจอร์ประสบอุบัติเหตุก่อนโครงการกระสวยอวกาศ-สถานีอวกาศเมียร์ รวมุถึงกระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรซ์ที่ไม่เคยถูกใช้งานในอวกาศ สำหรับนาซาแล้วกระสวยไม่ได้ดีไปหมดทุกอย่าง ยิ่งช่วงเริ่มต้นโครงการมันมีความสิ้นเปลืองมาก และในปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) กับเหตุการณ์อุบัติเหตุของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์เป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดสำหรับการบินอวกาศ
กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (Shuttle Orbiter Challenger) กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (Shuttle Orbiter Challenger) รหัสประจำยานคือ OV-099 เป็นกระสวยอวกาศลำที่สองที่ใช้ปฏิบัติภารกิจในอวกาศขององค์การนาซ่า สร้างถัดจากกระสวยอวกาศโคลัมเบีย เริ่มปล่อยสู่อวกาศครั้งแรก(ภารกิจที่ STS-6) ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) และปฏิบัติภารกิจมาแล้วถึง 9 ครั้งก่อนที่จะมาประสบอุบัติเหตุกระสวยอวกาศระเบิด(ในภารกิจที่ STS-51-L) ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) หลังจากที่ปล่อยกระสวยสู่ท้องฟ้าได้ 73 วินาที ทำให้ลูกเรือทั้ง 7 คนในยานเสียชีวิตทั้งหมด หลังจากที่อุบัติเหตุครั้งนี้ ทาง NASA จึงได้สร้างกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Space Shuttle Endeavour) ขึ้นมาปฏิบัติภาระกิจแทนยานชาเลนเจอร์ ในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ยานชาเลนเจอร์ได้รับเลือกให้ปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 10 ครั้ง มีลูกเรือเดินทางกับยานแล้ว 60 คน รวมเวลาอยู่ในอวกาศเป็นเวลา 62.41 วัน มีระยะการเดินทางรวม 25,803,939 ไมล์ หรือ 41,527,416 กิโลเมตร การสูญเสีย
กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ ในภารกิจครั้งที่ 10 (เที่ยวบินที่ STS-51-L) ของยานชาเลนเจอร์ ซึ่งเป็นวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2529 หลังจากปล่อยยานขึ้นไปเพียงนาทีเศษ ยานชาเลนเจอร์ได้ประสบอุบัติเหตุจากการระเบิด เนื่องจากยางรูปวงแหวนที่ใช้ปิดกั้นแก๊สระหว่างรอยต่อในจรวดบูสเตอร์(Solid Rocket Booster : SRB)ตัวขวาได้มีการเสียหายมาจากการยิงจรวดมาในภารกิจก่อนหน้านั้นหลายครั้งมาแล้ว และยังมีอีกปัจจัยนึงคือในวันที่ปล่อยกระสวยครั้งนี้ สภาพอากาศที่เย็นจัดได้ก่อให้เกิดน้ำแข็งเกาะตามฐานปล่อยจรวดและยาน รวมทั้งจรวดบูสเตอร์ด้วย ทำให้ยางไม่ยืดหยุ่น เมื่อได้ปล่อยยาน แก็สความร้อนสูงได้รั่วออกมาและรวมตัวกับเปลวไฟที่ไอพ่นของบูสเตอร์ จึงทำให้เกิดไฟลุกไหม้จรวด และเมื่อถังเชื้อเพลิงสีส้ม(Fule Tank : ET)ได้ถูกความร้อนจากจรวดตัวขวา ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นเป็นลูกไฟขนาดยักษ์บนฟ้า ยานได้แตกเป็นส่วนๆ จนตกสู่ทะเล ซึ่งในขณะที่ยานระเบิดนั้น ลูกเรือในยานยังไม่เสียชีวิตจนกระทั่งห้องโดยสารตกสู่ทะเล
-ขอบคุณข้อมูล https://sites.google.com/site/spacekhcu/x