การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เครื่องมือในการเตรียมประชากรให้มีคุณภาพ คือ การศึกษา การจัดการศึกษาของชาตินั้นจะต้องสอดคล้องกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระบบทั้งสาม การจัดการศึกษาของชาติก็จะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่ละสังคมจะมีแนวทาง ในการจัดการศึกษาต่างกัน เพราะระบบทั้งสามไม่เหมือนกัน แนวความคิดหรือความเชื่อในการจัดการศึกษาก็คือ ปรัชญาการศึกษา ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาจะยึดแนวทางในการจัดการศึกษาหรือปรัชญาของการศึกษาต่างกันไปตามวัตถุแระสงค์ของสังคมและสถานการณ์ทางสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย การจัดการศึกษาของประเทศใดถ้าไม่ยึดการศึกษาที่ถูกต้องก็ไม่มีทางที่จะทำให้ประเทศเจริญไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ปรัชญาการศึกษา จึงเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศ โดยมีหัวข้อดังนี้
1. ความหมายของปรัชญาการศึกษา
คำว่า “ปรัชญา” ตามพจนานุกรมหมายถึง “วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Philosophy” และมาจากรากศัพท์ในภาษากรีกว่า “Philosophia” ซึ่งประกอบขึ้นมาจากศัพท์คำว่า“Phileo” แปลว่า “รัก” และ “Sophia” แปลว่า “ภูมิปัญญา” หรือ wisdom ดังนั้น ปรัชญาจึงมีความหมายตามรากศัพท์ว่า “ความรักที่มีต่อภูมิปัญญา” ภูมิปัญญาเป็นเรื่องของกระบวนการคิดที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ภูมิปัญญานี้อาจจะได้มาโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายๆวิธีประกอบกันได้แก่ การสังเกต การจดจำ การประเมินค่า การเข้าใจถึงเรื่องจิตใจและวิญญาณ การเข้าใจถึงธรรมชาติของความเป็นไปและการเรียนรู้ เป็นต้น ดังนั้น หากจะพิจารณาถึงความหมายของปรัชญาในทัศนะของนักวิชาการแล้ว กล่าวได้ว่า “ปรัชญา” คือ “วิธีการคิดอย่างมีระเบียบเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นความพยายามที่จะค้นหาความสอดคล้องของแนวความคิด และประสบการณ์ทั้งหมด” (Kneller,1964 อ้างถึง สงัด อุทรานันท์, 2532)
ประเวศ เวชชะ. (2561), อ้างแล้วใน หน้า 8. กล่าวถึงความหมายของปรัชญาว่า ปรัชญาเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความคิด และวิธีแสวงหาความจริงในความรู้และคุณค่าของสรรพสิ่งในโลกและจักรวาล ความรู้ความจริงและคุณค่าของชีวิตมนุษย์สิ่งที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องในสังคม
สรุปว่า ปรัชญาการศึกษาคือ แนวความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์ ในการกำหนดแนวทาง ในการจัดการศึกษา ซึ่งนักการศึกษาได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินการทางการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน ปรัชญาการศึกษาจึงเปรียบเหมือนเข็มทิศนำทางให้นักการศึกษาดำเนินการทางศึกษาอย่างเป็นระบบ ชัดเจน และสมเหตุสมผล
2. คุณค่าของปรัชญาการศึกษา
การจะศึกษาสิ่งใดนั้น มนุษย์มักตั้งคำถามว่า ศึกษาไปแล้วจะได้อะไร หมายถึง สิ่งที่ได้ศึกษานั้นก่อให้เกิดคุณค่าอย่างไรกับชีวิต วิชาปรัชญาก็เช่นกัน ย่อมถูกตั้งคำถามจากผู้ศึกษาว่า “เรียนปรัชญาแล้วได้อะไร” เพราะวิชาปรัชญาไม่ใช่วิชาที่สอนทักษะในการประกอบอาชีพโดยตรง ไม่ใช่วิชาที่เอาไว้ประดับความรู้ว่าตนเองเป็นผู้มีปัญญา เพราะนั่นไม่ใช่เนื้อแท้ของวิชาปรัชญา ปัญหาดังกล่าวนี้ก็จะวกกลับมาเพื่อค้นหาคำตอบที่แท้จริง ด้วยการประเมินคุณค่าทางปรัชญาให้ตรงกับเป้าหมาย เพื่อจะได้ตอบตนเองได้อย่างมั่นใจว่า “จะเรียนปรัชญาไปทำไม” ในหัวข้อนี้จึงได้รวบรวมแนวคิดของนักปราชญ์ที่ช่วยประเมินคุณค่าของปรัชญาเอาไว้ เพื่อให้ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธานด้วยตนเองดูว่า คุณค่าที่ได้รับจากวิชาปรัชญานั้นเป็นจริงดังที่นักปราชญ์เหล่านี้ได้กล่าวไว้หรือไม่
3. บทบาทของปรัชญาการศึกษาต่อการจัดการศึกษา
ปรัชญาหรือปรัชญาทั่วไปกับปรัชญาการศึกษามีความใกล้ชิดกันมาก ปรัชญาทั่วไปเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความจริง วิธีการค้นหาความจริงและคุณค่าของสิ่งต่างๆในสังคม แต่ปรัชญาการศึกษาเป็นการนำเอาปรัชญาทั่วไปมาประยุกต์เพื่อนำไปจัดการศึกษา ซึ่งการจัดการศึกษาทำไปเพื่อพัฒนาบุคคลพัฒนาสังคมชุมชนให้เกิดความสงบสุข อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้น ปรัชญาทั่วไปกับปรัชญาการศึกษาจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก
การที่กล่าวว่าปรัชญากับปรัชญาการศึกษามีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันนั้น อาจพิจารณาได้จากนักปรัชญาและนักการศึกษาที่มีแนวคิดชั้นนำตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยปัจจุบันมักเป็นบุคคลคนเดียวกัน เช่น John Locke, Immanuel Kant, Johann Herbart, John Dewey เป็นต้น นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่จุดเริ่มต้นและวิวัฒนาการของปรัชญาและปรัชญาการศึกษาเท่านั้นที่เหมือนกัน แต่ทั้งปรัชญาและปรัชญาการศึกษายังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันอีกด้วย กล่าวคือ ทั้งปรัชญาและปรัชญาการศึกษาจะสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ธรรมชาติ ความรู้ ความสัมพันธ์ และพฤติกรรมของมนุษย์ และขณะเดียวกันสาขาวิชาทั้งสองต่างก็มีความสนใจร่วมกันในเรื่องที่จะทำให้ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีสันติและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
4. แนวทางการศึกษาปรัชญาการศึกษาในการศึกษาปรัชญาการศึกษา
ประเวศ เวชชะ. (2561) อ้างแล้วใน หน้า 16. ว่าแนวทางการศึกษาปรัชญาการศึกษานั้นประกอบด้วย 3 แนวทางการศึกษาที่ยึดตัวการศึกษาเป็นแกนกลาง และในทางการศึกษาที่มุ่งหาความกระจ่างในแนวคิดและกิจกรรมการศึกษา
5. ปรัชญาการศึกษา
1) ปรัชญาการศึกษาตะวันตก
ปรัชญาพื้นฐานทางตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา ปรัชญาพื้นฐานที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาของประเทศตะวันตก มีหลายกลุ่ม และเนื่องจากการศึกษาตะวันตกมีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาไทยในปัจจุบัน จึงควรทำความเข้าใจกับปรัชญาดังกล่าว ได้แก่
1. จิตนิยม หรือมโนคติวิทยา (Idealism)
2. สัจนิยม หรือวัตถุนิยม (Realism)
3. โทมัสนิยมใหม่ (Neo-Thomism)
4. ประสบการณ์นิยม หรือปฏิบัตินิยม (Pragmatism, Experimentalism, Instrumentalism)
5. อัตถิภาวนิยม หรืออัตภาวะนิยม (Existentialism)
ปรัชญาจิตนิยมกับการศึกษา
ปรัชญาจิตนิยม มีแนวคิดเกี่ยวกับโลกและจักรวาล ว่าเป็น “โลกแห่งจิต” (The World of Mind) และมีแนวคิดว่าความรู้ที่แท้จริง คือ “จิตที่หยั่งรู้” (Truth as idea)แนวคิดเกี่ยวกับความดี หรือจริยธรรม ของนักปรัชญากลุ่มจิตนิยม คือ “จริยธรรมเป็นการเลียนแบบความดีอันสมบูรณ์” (imitation of the absolute self) ที่มีค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาหรือสถานที่แนวคิดเกี่ยวกับความงาม หรือสุนทรียภาพ คือ “สุนทรียะ เป็นเครื่องสะท้อนถึงมโนคติ” (reflection of the idea)
นักปรัชญาคนสำคัญ คือ Plato ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง 427 – 375 ปี ก่อนคริสตกาล แนวคิดของ Plato มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อการจัดการศึกษาของประเทศตะวันตก ทั้งในสมัยอดีตและปัจจุบัน เช่น
1. แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้โดยการรื้อฟื้นความจำ (Platonian process of Reminiscence) ซึ่งอาศัยการมองทะลุเข้าไปในตัวเอง (introspection) หรือ การวิปัสสนา (contemplation)
2. แนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม คือ คุณธรรม มี 2 ประเภท ได้แก่ คุณธรรมทางปรัชญา และคุณธรรมทางสังคม ซึ่งต่างกันดังนี้
1) คุณธรรมทางปรัชญา เป็นคุณธรรมที่ต้องอาศัยปัญญา เป็นคุณธรรมขึ้นสูงสุด
2) คุณธรรมทางสังคม เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามความเชื่อหรือประเพณี
3. แนวคิดเกี่ยวกับความหมายของการศึกษา คือ “การศึกษา หมายถึง การให้ความเจริญเติบโต ซึ่งต้องเน้นการอบรมจิตใจ ให้มีระเบียบวินัย”
4. แนวคิดเกี่ยวกับบุคคล หรือผู้เรียน คือ ผู้เรียนแต่ละคนมีองค์ประกอบทางจิตใจ ซึ่งจำแนกเป็น 3 ภาค คือ ภาคตัณหา (Appetite) ภาคน้ำใจ (Spirit) และภาคปัญญา (Wisdom) ซึ่งมีความเข้มข้นแตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางคนมีภาคตัณหาสูงกว่าภาคอื่นๆ บางคนมีภาคน้ำใจสูงภาคอื่นๆ แต่บางคนมีภาคปัญญาสูงกว่าภาคอื่นๆ
5. แนวคิดเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐด้านการศึกษา คือ รัฐควรจัดการศึกษาให้แก่คนทุกคนในชาติ และควรจัดให้ตามลักษณะขององค์ประกอบด้านจิตใจ โดยให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงอายุประมาณ 20 ปี และควรให้บุคคลที่มีองค์ประกอบด้านปัญญาสูง ได้ศึกษาต่อไปอีก ในสถาบันการศึกษาขั้นสูง จึงถึงอายุ 35 ปี แล้วฝึกปฏิบัติงานบริหารประเทศต่อไปอีก จนถึงอายุ 50 ปี จนถึงขั้นที่เรียกว่า ราชานักปราชญ์ (Philosopher King) เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตย
แนวคิดของนักปรัชญากลุ่มจิตนิยมที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา
1. แนวคิดเกี่ยวกับโรงเรียน โรงเรียน เป็นสถานที่เสริมสร้างสิ่งแวดล้อมทางความคิดให้แก่ผู้เรียน ความคิด แสดงออกเป็นสัญลักษณ์ เช่น ภาษา ศิลป คณิตศาสตร์ ฯลฯ จุดมุ่งหมายของโรงเรียน คือ สร้างคนให้เป็นนักศิลปะ และนักภาษา
2. แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตร คือ หลักสูตรที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียน ควรเน้นความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ และการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของชีวิต สร้างคุณธรรม มโนธรรม และฝึกคิดหาเหตุผล โดยให้เรียนวิชา ภาษา วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา ศิลป คณิตศาสตร์ และประวัติศาสตร์ กลุ่มวิชาที่เป็นแกนกลางของหลักสูตร คือ Language Arts
3. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอน ได้แก่
1) ใช้สัญลักษณ์ (ภาษา คณิตศาสตร์ ศิลป ฯลฯ) เป็นสื่อนำไปสู่การเรียนรู้
2) เน้นกิจกรรมการฟัง การจดบันทึก การจำ การบรรยาย การค้นคว้าจากตำรา
3) หัวใจของกระบวนการเรียนการสอน คือ ห้องเรียน และห้องสมุด ซึ่งเป็นแหล่งกลาง ที่ครูจะใช้สัญลักษณ์ต่างๆ มาทำการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียน
4) ครู คือ แม่แบบ และแม่พิมพ์
4. แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษากับการพัฒนาคุณธรรม เน้นจริยศึกษาเป็นพิเศษ โดยสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี อุดมการณ์และค่านิยมทางสังคมควบคู่ไปกับการอบรมทางจริยธรรม
ปรัชญาสัจนิยมกับการศึกษา
ปรัชญาสัจนิยม มีแนวคิดเกี่ยวกับโลกและจักรวาล ว่าเป็น “โลกแห่งวัตถุ” หรือ โลกแห่งสิ่งที่เป็นรูปธรรม (The World of Things) และมีแนวคิดว่าความรู้ที่แท้จริง คือ “ข้อเท็จจริงที่สามารถสังเกตได้” (Truth as observable fact) แนวคิดเกี่ยวกับความดี หรือจริยธรรม ของนักปรัชญากลุ่มสัจนิยม คือ “จริยธรรมเป็นกฎของธรรมชาติ” (the law of nature) แนวคิดเกี่ยวกับความงาม หรือสุนทรียภาพ คือ “สุนทรียะ เป็นเครื่องสะท้อนถึง ธรรมชาติที่เป็นจริง” (reflection of nature)
นักปรัชญาคนสำคัญ คือ Aristotle ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง 384 – 322 ปี ก่อนคริสตกาล เคยเป็นศิษย์ของ Plato ที่สำนักอะคาเดมี (Academy) แต่มีทัศนะต่างจาก Plato หลายอย่าง คือ
1. การหาเหตุผล จะอาศัยจิตเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงของธรรมชาติด้วย
2. การศึกษา เป็นกระบวนการฝึกร่างกาย จิตใจ ความคิด และอุปนิสัยให้เป็นคนดี และรู้จักวิธีการแสวงหาความสุขอย่างถูกต้อง
3. อุดมการณ์ทางการศึกษา คือ ความมีคุณธรรมและการมีชีวิตที่เป็นสุข
แนวคิดของนักปรัชญากลุ่มสัจนิยมที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา
1. แนวคิดเกี่ยวกับโรงเรียน คือ โรงเรียน เป็นสถานที่ที่จัดให้ผู้เรียนได้คุ้นเคยกับสภาพกฎธรรมชาติที่แท้จริง เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติที่แวดล้อม จุดมุ่งหมายของโรงเรียน คือ สร้างคนที่มีความรู้และคุณธรรมตามหลักความเป็นจริงของธรรมชาติ เพื่อให้ผู้เรียนมีชีวิตที่เป็นสุข
2. แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตร คือ หลักสูตรที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียน ควรเน้นเรื่องของธรรมชาติ ทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ วิชาที่เน้น ได้แก่ ชีววิทยา สัตววิทยา พฤษศาสตร์ ธรณีวิทยา ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์
3. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอน ได้แก่
1) เน้นการเรียนรู้โดยผัสสะ (sense perception)
2) สอนโดยการสาธิต และการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
3) ครู คือ นักสาธิตที่ดี และรู้จักใช้อุปกรณ์การสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
4. แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษากับการพัฒนาคุณธรรม เน้นจริยศึกษาที่อาศัยกฎเกณฑ์ทางสังคมซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติ สอนให้ผู้เรียนเข้าใจสภาวะธรรมชาติ และประพฤติตนให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ ปลูกฝังค่านิยมทางสุนทรียภาพ และศิลปะโดยการจำลองแบบหรือเรียนรู้จากแบบอย่างความงามตามธรรมชาติ
ปรัชญาโทมัสนิยมใหม่กับการศึกษา
ปรัชญาโทมัสนิยมใหม่ มีแนวคิดเกี่ยวกับโลกและจักรวาล ว่าเป็น “โลกแห่งเหตุผล และการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า” (The World of Reason, Being/God) และมีแนวคิดว่าความรู้ที่แท้จริง คือ “ความรู้ที่เป็นไปตามหลักเหตุผล และเป็นการหยั่งรู้” (Truth as reason and intuition) แนวคิดเกี่ยวกับความดี หรือจริยธรรมของนักปรัชญากลุ่มโทมัสนิยมใหม่ คือ “จริยธรรมเป็นการกระทำอย่างมีเหตุผล” แนวคิดเกี่ยวกับความงาม หรือสุนทรียภาพ คือ “สุนทรียะ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการหยั่งรู้เชิงสร้างสรรค์ โดยอาศัยพุทธิปัญญา”
นักปรัชญาคนสำคัญ คือ Saint Thomas Aquinas
แนวคิดของนักปรัชญากลุ่มโทมัสนิยมใหม่ ที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา
1. แนวคิดเกี่ยวกับโรงเรียน คือ โรงเรียน เป็นสถานที่ที่จัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า (Being) เป็นแหล่งที่ให้การฝึกฝนสติปัญญาของผู้เรียนให้เฉียบแหลมอยู่เสมอ บรรยากาศของโรงเรียนจึงต้องมีลักษณะที่ทำให้ผู้เรียนตื่นตัว รักสัจจะ และฝึกฝนให้มีสัจจะเพื่อตัวของตัวเอง
2. แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตร แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) โทมัสนิยมฝ่ายสงฆ์ (Ecclesiastical Group) เน้นวิชาที่เกี่ยวข้องกับคริสตศาสนา และบทสวดมนต์ เนื้อหาจากพระคัมภีร์ (Holy Scriptures) บทปุจฉา วิสัชชนา (Catechism) และบทอธิบายคำสอนของศาสนาคริสต์ รวมทั้งห้ามหนังสือทางโลก บางประเภท
2) โทมัสนิยมฝ่ายฆราวาส (Lay Group) ไม่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการ แต่หลักสูตรก็ยังกำหนดเนื้อหาวิชาที่บังคับให้ต้องเรียนไว้ด้วย เพื่อสร้างความมีระเบียบแบบแผน และความมีระเบียบวินัย เพื่อให้เข้าถึงสัจจะสูงสุด (The Absolute Truths) วิชาที่เน้น ได้แก่ คณิตศาสตร์แขนงต่างๆ ซึ่งนักปรัชญาการศึกษากลุ่มนี้ถือว่าเป็นวิชาที่ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความมีเหตุผลอย่างบริสุทธิ์ (pure reason) และสามารถคิดอย่างมีเหตุผล (rationality) นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับวิชาภาษา โดยให้ภาษาละตินและกรีก มีความสำคัญสูงสุด ส่วนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาปัจจุบัน มีความสำคัญอันดับรอง เนื่องจากภาษาละตินและกรีกมีหลักเกณฑ์และไวยากรณ์ที่ดีและแน่ชัด วิชาที่สำคัญรองจากภาษา คือ วิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) รองลงมา คือ สังคมศึกษา ส่วนวิชาที่สำคัญน้อยที่สุด คือ วิชาต่างๆ ในสาขามานุษยวิทยา
3. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอน ได้แก่
1) เน้นการเสริมสร้างจิตใจและพุทธิปัญญา
2) สอนโดยการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด และใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล เพื่อให้รู้จักใช้เสรีภาพอย่างฉลาด
4. แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษากับการพัฒนาคุณธรรม
1) เน้นการใช้เหตุผล
2) เน้นหน้าที่ทางศีลธรรม 3 ประการ คือ หน้าที่ต่อตนเอง หน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ และหน้าที่ต่อพระเจ้า
3) จัดลำดับคุณค่าแห่งความดีเป็น 3 ขั้น
1.1 ขั้นสูงสุด คือ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า (union with God)
2.1 ขั้นกลาง คือ ชีวิตที่มีเหตุผล (The life of reason)
3.1 ขั้นธรรมดา คือ ความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนมนุษย์ เพื่อชีวิตที่เป็นสุขตาม
5. หลักของอาริสโตเติลที่ว่า “ความสุขเป็นคุณค่าสำคัญยิ่งสำหรับชีวิตมนุษย์”
6. ความงามที่มีค่าสูงสุด คือ ความงามอย่างสร้างสรรค์ หรือ ความงามด้วยปัญญา ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ประการ คือ
1)ความสมบูรณ์แบบสูงสุด (Integrity)
2)ความกลมกลืนแห่งสัดส่วน (Proportion of consonance)
3)ความกระจ่าง สว่างไสว (Radiance)
ปรัชญาประสบการณ์นิยมกับการศึกษา
ปรัชญาประสบการณ์นิยม มีแนวคิดเกี่ยวกับโลกและจักรวาล ว่าเป็น “โลกแห่งประสบการณ์” (The World of Experience) และมีแนวคิดว่าความรู้ที่แท้จริง คือ “สิ่งที่นำมาปฏิบัติในชีวิตอย่างได้ผล” (Truth as what works) แนวคิดเกี่ยวกับความดี หรือจริยธรรมของนักปรัชญากลุ่มประสบการณ์นิยม คือ “จริยธรรมเป็นการกระทำที่สังคมส่วนรวมเห็นชอบ และยอมรับว่าถูกต้อง” แนวคิดเกี่ยวกับความงาม หรือสุนทรียภาพ คือ “สุนทรียะ เป็นไปตามค่านิยมของคนส่วนมาก”นักปรัชญาคนสำคัญ มีหลายคน ซึ่งได้แนวคิดมาจากลัทธิประจักษวาท (Empericism) ของอังกฤษ และเมื่อนำแนวคิดไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา ได้เรียกชื่อต่างกันออกไป ดังนี้
1. William James เรียกปรัชญานี้ว่า Pragmatism
2. Charles Pierce เรียกปรัชญานี้ว่า Instrumentalism
3. John Dewey เรียกปรัชญานี้ว่า Experimentalism
แนวคิดของนักปรัชญากลุ่มประสบการณ์นิยม ที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา
1. แนวคิดเกี่ยวกับโรงเรียน คือ โรงเรียน เป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ต่อเนื่อง เป็นสังคมย่อย ที่จำลองจากสังคมใหญ่ เพื่อให้ประสบการณ์ในโรงเรียนสัมพันธ์และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในสังคม ความรู้ที่ได้จากโรงเรียน คือ สิ่งที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิต
2. แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตร
1) หลักสูตรเป็นมวลประสบการณ์
2) เน้นการเสริมสร้างประสบการณ์ทางสังคม ไม่เน้นเนื้อหาสาระ
3) เน้นกระบวนการเรียนรู้
3. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอน ได้แก่
1) เน้นการเรียนโดยวิธีแก้ปัญหา (Problem Solving) และอาศัยประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดให้
2) สอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered) คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน
3) ให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ในขณะที่นำความรู้ไปใช้ (Learning while using knowledge) เช่น ให้ทำโครงการหรือกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาคำตอบใหม่ ๆ
4. แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษากับการพัฒนาคุณธรรม คือ โรงเรียนต้องจัดสภาพ แวดล้อมให้เป็นจริง เหมือนในสังคม เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทางศีลธรรม จรรยาและแบบอย่างความประพฤติที่ดีงาม ที่สังคมยอมรับ
ปรัชญาอัตถิภาวนิยมกับการศึกษา
ปรัชญาอัตถิภาวนิยม มีแนวคิดเกี่ยวกับโลกและจักรวาล ว่าเป็น “โลกแห่งความมีตัวตนอยู่จริง” (The World of Existing) และมีแนวคิดว่าความรู้ที่แท้จริง คือ “สิ่งที่มนุษย์แต่ละคนเลือกกำหนดขึ้นมา” (Truth as existential choice) แนวคิดเกี่ยวกับความดี หรือจริยธรรม ของนักปรัชญากลุ่มอัตถิภาวนิยม คือ “จริยธรรมเป็นเสรีภาพของแต่ละคนที่จะเลือกปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบ” แนวคิดเกี่ยวกับความงาม หรือสุนทรียภาพ คือ “สุนทรียะ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามจารีตของสังคม แต่เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะสร้างขึ้นมา”
นักปรัชญาคนสำคัญ คือ กิเออร์การ์ด (Soren Kierkegaard: 1813-1855) ซึ่งมองภาวะความเป็นมนุษย์อย่างปัจเจกบุคคลผู้ดิ้นรน ใคร่ครวญ ตัดสินใจเลือกทางเลือกเฉพาะตนในการดำรงอยู่ และรับผิดชอบในผลการเลือกของตนเอง เขาผลิตงานเขียนหลายเล่ม และถึงแก่มรณกรรมเมื่ออายุได้ 42 ปี แต่โด่งดังขึ้นเมื่อนักคิดชาวเยอรมัน ไฮเดกเกอร์ (Heidegger: 1889- 1976) หยิบยกงานเขียนของเขามาศึกษาในระยะเวลาต่อมา ไฮเด็กเกอร์ได้ชี้ในเห็นว่า “คน” ต่างจาก “สิ่งของ” คือ คนเท่านั้นที่สามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความเป็น-Being” ของตนเองและสนใจสำเหนียกรู้ถึงการมีอยู่ เป็นอยู่ ดำรงอยู่แห่งตนด้วยการคิดการรู้ในตนเองได้ นักปรัชญาในกลุ่มนี้ซึ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักดี คือ ช็อง ปอล ซาร์ตร (Jean Paul Sartre: 1905-1980) นักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้มองความเป็น “คน” ในทำนองเดียวกับกิเออร์การ์ด ซาร์ตร กล่าวว่า อัตถิภาวะนิยมคือมนุษยนิยม มนุษย์มีจิตสำนึกรู้ในการดำรงอยู่ของตนเองด้วยความรับผิดชอบ (responsibility) มนุษย์แท้จริงคือเสรีชน มนุษย์คือ เสรีภาพ ซาร์ตรมีผลงานการเขียนมากมาย จนได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) ทางด้านวรรณกรรม ในปี ค.ศ. 1964 แต่เขาปฏิเสธที่จะรับรางวัลนี้ ด้วยเหตุผลว่าเขาไม่ต้องการให้ตนเองกลายเป็นสถาบัน เขาถึงแก่มรณกรรมเมื่ออายุได้ 74 ปี
2) ปรัชญาการศึกษาตะวันออก
ปรัชญาตะวันตก เน้นการค้นหาความจริงของโลก หมายความว่า ทุกสิ่งอย่างที่ต้องการสืบค้นจะต้องมีหลักฐานมายืนยันไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์หรือสถิติต่าง ๆ ที่ผู้รู้ทั้งหลายได้ใช้เวลาเกือบค่อนชีวิตค้นหามาได้ แล้วความจริงของชีวิตที่ว่า จึงกลายเป็นวัตถุที่ต้องสัมผัสรู้ได้ด้วยตาเปล่าและความรู้สึกนึกคิด โดยลืมคำว่า จิตวิญญาณแห่งชีวิตไปโดยสิ้นเชิง จิตวิญญาณที่ว่านั้นเป็นบ่อเกิดของชีวิต ไม่รวมถึง ความหมายที่แท้จริงของชีวิตว่าเรามีชีวิตเพียงด้านที่จับต้องได้จริงหรือ ความคิดที่ว่าชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมต้องประกอบด้วยวัตถุปัจจัยทั้ง 4 อย่างเป็นอย่างน้อยเพื่อให้เพียงพอแก่การดำรงชีพในสังคมยุคใหม่ โดยลืมไปว่าเมื่อครั้งที่ไม่มีวิทยาศาสตร์ พวกเราสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยสิ่งใดหากไม่ใช่สัญชาตญาณเพื่อการมีชีวิตอยู่ บรรพบุรุษของเราต่างก็ใช่จิตวิญญาณในการนำพาหมู่มวลเพื่อนมนุษย์ให้สามารถดำรงพงศ์พันธุ์มาได้จนล่วงเข้าสู่ยุคสหัสวรรษใหม่ที่ชีวิตเรายิ่งกระพือความอยากแห่งกามตัณหาโดยแท้ การสู้รบเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นก็เพราะคนเราให้ความสำคัญกับความจริงเฉพาะด้านที่เป็นวัตถุเท่านั้น บทความนี้หาได้โจมตีว่าปรัชญาตะวันตกเน้นเรื่องวัตถุสิ่งของ แต่เพียงต้องการให้ทุกคนได้เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วความจริงของมนุษย์ยังต้องการหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควรมากกว่า ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของปรัชญาตะวันออกที่เน้นในเรื่องดังกล่าว
ความจริงของโลกตะวันตกต้องมีหลักฐานมารองรับจึงกลายเป็นว่าคนเราต้องสามารถทำทุกอย่างให้กระจ่างเพียงตาเปล่าเท่านั้น โดยลืมนึกถึงคุณค่าของจิตวิญญาณแห่งสรรพสิ่ง นี่คือคำตอบจากผู้เขียนที่มองว่าปรัชญาตะวันตกไม่สามารถจะนำพาให้การศึกษาไทยไปสู่จุดหมายแห่งความสำเร็จได้โดยแท้
3) ปรัชญาการศึกษาตามแนวพุทธธรรม
ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า คำว่าสิกขามาจากคำว่า
สยํ + อิกฺขา สมฺมา + อิกฺขา สห + อิกฺขา
ผู้ศึกษาจะต้องเห็นชัดในสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองอย่างถูกต้องจนดับทุกข์ได้และสามารถจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ด้วยความสงบสุข ดังนั้นการศึกษาจึงมิใช่การเรียนเพียงด้านภาษา และอาชีพเท่านั้น แต่หมายถึงการดับทุกข์ตนเองและผู้อื่นให้ได้ทำตนให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์
ดร. สาโรช บัวศรี กล่าวว่า การศึกษาคือขบวนการพัฒนาขันธ์ ๕ ให้เจริญเต็มที่เพื่อบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ ของมนุษย์ให้เบาบางลงและหมดไปในที่สุด
พระราชวรมุนี* (* ปัจจุบัน พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) )ได้กล่าวว่า การศึกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อทำชีวิตให้เข้าถึงอิสรภาพ คือทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำจากปัจจัยภายนอกให้มากที่สุด และ มีความเป็นใหญ่ในตัว สามารถกำหนดความเป็นอยู่ของตนให้ได้มากที่สุด
1. กระบวนการศึกษาแบบพุทธ
คือ กระบวนการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องด้วยการทำลายอวิชชาและตัณหา และสร้างเสริมปัญญา ฉันทะ และกรุณา
2. ความหมายและจุดมุ่งหมายการศึกษา
1) ความหมายที่มองในแง่สภาพที่เผชิญการศึกษาก็คือการแก้ปัญหาของมนุษย์ ถ้าไม่มีปัญหา การศึกษาก็ไม่มี มองในแง่สภาพที่จะประสบผล การศึกษาก็คือการทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากปัญหา (-) ปราศจากสิ่งบีบคั้นกีดขวาง แล้วเข้าถึงสิ่งที่ดีงาม (+) สิ่งที่ประเสริฐที่สุดหรือดีที่สุดที่ชีวิตจะพึงได้มีอิสรภาพสมบูรณ์ มองในแง่ความสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอกการศึกษาคือการทำให้มนุษย์พ้นจากการต้องพึ่งปัจจัยภายนอก มีความสมบูรณ์ในตัวมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
2) จุดหมายของการศึกษาเป็นอันเดียวกันกับจุดหมายของชีวิตคือความหลุดพ้น (วิมุตติ) ได้แก่ความปลอดโปร่งเป็นอิสระ
6. แนวคิดในการจัดการศึกษาไทย
1) แนวคิดการจัดการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษา
2) แนวคิดการจัดการศึกษาตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3) แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสู่ศตวรรษ 21
4) แนวคิดในการจัดการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน