ฟิสิกส์คืออะไร?
ฟิสิกส์ (Physics) มีที่มาจากคำว่า ฟิสิกอส (Physikos) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่มีความหมายว่า “ธรรมชาติ” แต่สำหรับในวิชาฟิสิกส์ จะหมายถึงวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่เน้นศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ พฤติกรรมของสสารและพลังงาน
ฟิสิกส์ (Physics) เป็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพแขนงหนึ่งที่กล่าวถึงสมบัติทางกายภาพของสสาร พลังงาน แม่เหล็กไฟฟ้า และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของวัตถุหรือสิ่งของต่างๆ รอบตัวเรา นับตั้งแต่สิ่งที่มีขนาดเล็กมากๆ ในระดับอะตอมไปจนถึงวัตถุที่มีขนาดใหญ่ เช่น ระบบการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาวในเอกภพ นอกจากความรู้ทางด้านฟิสิกส์จะสามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณทางธรรมชาติต่างๆ แล้ว ทฤษฎีทางฟิสิกส์ยังเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญที่ในการนำไปประยุกต์ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา อาทิเช่น เครื่องจักรกล ยานพาหนะ อุปกรณ์สื่อสาร และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น ในอดีตกาล นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียง มักจะอาศัยการทดลอง สังเกตุ จดบันทึก สรุปและอภิปรายผลที่ได้ออกมาเป็นหลักการหรือกฏต่างๆ ซึ่งทฤษฎีทางฟิสิกส์ในปัจจุบันได้มีการค้นคว้าพัฒนาต่อยอดอย่างกว้างขวางจนมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งนี้ เราสามารถแบ่งทฤษฎีทางฟิสิกส์ออกได้เป็นหัวข้อต่างๆ ที่สำคัญดังนี้
- กลศาสตร์คลาสสิค
- แม่เหล็กไฟฟ้า
- อุณหพลศาสตร์
- กลศาสตร์สถิติ
- ทฤษฎีควอนตัม
- ทฤษฎีสัมพัทธภาพ
ทำไมต้องเรียนฟิสิกส์
ในการพัฒนากฏและทฤษฎีทางฟิสิกส์ต่างๆนั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยความรู้ทางคณิตศาสตร์มาช่วยเป็นเครื่องมือในการอธิบาย ทั้งนี้งานวิจัยทางฟิสิกส์ในปัจจุบันอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือฟิสิกส์เชิงทดลอง (experimental physics) และฟิสิกส์เชิงทฤษฎี (theoretical physics) ซึ่งการศึกษาวิจัยด้านฟิสิกส์ดังกล่าวยังมีประเด็นที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้เราอาจจะแบ่งหัวข้อการศึกษาทางฟิสิกส์เป็นสาขาต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์อะตอม ฟิสิกส์นิวเคลียร์ ฟิสิกส์บรรยากาศ ฟิสิกส์วัสดุ และธรณีฟิสิกส์ เป็นต้น
“ฟิสิกส์” เมื่อกล่าวถึงคำว่าฟิสิกส์หลายท่านที่กำลังอ่านอยู่อาจตกใจกับคำคำนี้ บางท่านอาจถึงกับออกอาการส่ายหัว หรืออาจหยุดอ่านบทความนี้ไปเลย นั้นเป็นเพราะเมื่อเรากล่าวถึงวิชาฟิสิกส์มักพูดถึง สูตร ตัวเลข และการคำนวณ โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่มีบทบาทในการช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต สังคม และโลกในปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น หากกระบวนการทั้งหลายไม่ได้มีการศึกษาและการทดลองจากนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ท่านมาก่อน ท่านคิดบ้างหรือไม่ว่าวิถีชีวิตในปัจจุบันจะเป็นเช่นไร