สายอาชีพ VS สายสามัญ แตกต่างกันอย่างไร
การเรียนในสายอาชีพ
การเรียนสายอาชีพคือการเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. เป็นการเรียนในหลักสูตรที่จะไม่ได้เน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเหมือนกับการเรียนสายสามัญมากนัก มีระยะเวลาในการเรียน 3 ปี โดยหากเรียนจบแล้วจะมีทางเลือกในการเรียนต่อ 2 ทางเลือกใหญ่ๆ คือ การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. (หลักสูตร 2ปี) กับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หลักสูตรการเรียนในสายอาชีพก็จะแบ่งหลักๆ ออกเป็น สาขาวิชาอุตสาหกรรม, สาขาวิชาพาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ, สาขาวิชาศิลปกรรม, สาขาวิชาประมง, สาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, สาขาวิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสาขาวิชาสารสนเทศและการสื่อสาร จุดเด่นสำคัญที่ทำให้หลายๆ คนเลือกเรียนต่อสายอาชีพนั่นเพราะจะได้มีโอกาสเรียนในสายวิชาที่เน้นการทำงาจริงเป็นหลัก ได้พุ่งเป้าไปที่การเรียนในด้านนั้นๆ อย่างเต็มที่ ต่อให้เรียนจบแค่ระดับ ปวช. ก็สามารถทำงานได้ จะทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงการเรียนตามหลักสูตรที่ทำออกมาเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคตอย่างแท้จริง
– ข้อดีของสายอาชีพ คือ มีความรู้เฉพาะด้านแน่น ไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยก็สามารถทำงานได้เลย สอบราชการก็ได้
– ข้อเสียของสายอาชีพ คือ มีข้อจำกัดในการเรียนต่อมหาวิทยาลัยในบางสาขาวิชาหรือบางคณะ เช่น คณะสัตวแพทย์ฯ คณะสหเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขฯ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ทั้งหมดนี้สายอาชีพไม่สามารถสมัครเรียนต่อได้
การเรียนสายสามัญ
คือการเรียนต่อในระดับมัธยมปลายเป็นการเรียนต่อไปอีก 3 ปีหลังจากจบมัธยมต้น ก่อนที่จะเตรียมตัวเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย การเรียนด้านสายสามัญจะเน้นไปที่การจัดการขั้นพื้นฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีการกำหนดเอาไว้ เน้นการให้ความสำคัญกับการเรียนด้านกลุ่มสาระเป็นหลัก ซึ่งปกติแล้วการแบ่งสายเรียนทั่วๆ ไปในสายสามัญจะประกอบไปด้วย สายวิทย์คณิต, สายศิลป์คำนวณ, สายศิลป์ภาษา และสายศิลป์ทั่วไป ซึ่งการเรียนในสายสามัญนี้จะค่อนข้างได้วิชาที่เป็นพื้นฐานความรู้ทั่วไปที่ดี สามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือเอกชน นอกจากนี้ยังมีโอกาสเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปศึกษาต่อในระดับต่างประเทศได้อีกด้วย
– ข้อดีของสายสามัญ คือ ความรู้พื้นฐานทั่วไปค่อนข้างแน่นกว่าสายอาชีพ เพราะเน้นทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติ สามารถเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐบาล มีโอกาสเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ หรือกิจกรรมอื่นๆ มากกว่าสายอาชีพ
– ข้อเสียของสายสามัญ คือ ความรู้เฉพาะด้านอาจไม่แน่นเท่าสายอาชีพ เรียนจบแค่ ม. 6 แล้วไม่ต่อปริญญาตรีจะหางานค่อนข้างยาก และไม่ค่อยมีประสบการณ์ในวิชาชีวิตการทำงานเท่าสายอาชีพ