มารู้จักกับการทำงานของสมองที่หลายคนยังไม่รู้ สมองมีการทำงานดังนี้
1. ประสาทรับความรู้สึก
ประสาทรับความรู้สึกมีหลายแบบ ได้แก่ ความรู้สึกสัมผัสเบา ๆ ความรู้สึกสัมผัสอย่างรุนแรง ความรู้สึกอุณหภูมิร้อนเย็น หรือความรู้สึก เจ็บปวด เช่น ถูกเข็มฉีดยา ถูกมีดบาด หรือถูกหยิก ซึ่งเส้นประสาทต่าง ๆ ที่นำความรู้สึกเหล่านี้จะมีขนาดแตกต่างกันด้วย ความรู้สึก สัมผัสเบา ๆ จะนำโดยเส้นประสาทขนาดใหญ่ ที่มีไขมันห่อหุ้มมาก ในขณะที่ความรู้สึกเจ็บปวดนำโดย เส้นประสาทขนาดเล็ก ที่มีไขมันห่อหุ้มน้อย หรือไม่มีเลย ผิวหนังของคนเราจะมีประสาทรับความรู้สึกต่าง ๆ และนำส่งต่อไปยังเส้นประสาทผ่าน ไขสันหลัง ขึ้นไปยังก้านสมอง และขึ้นไปถึงสมองส่วนใหม่ หรือนีโอคอร์เท็กซ์ ส่วนที่เรียกว่า พารายทอลโลบ สมองข้างซ้ายจะรับความรู้สึก จากร่างกาย และใบหน้าทางซีกขวา ขณะที่สมองข้างขวาจะรับความรู้สึกจากร่างกาย และใบหน้าทางซีกซ้าย ในสมองคนเราจะมีแผนที่ว่า ส่วนใดของสมองจะรับความรู้สึกจากส่วนใดของร่างกาย
2. การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การควบคุมการทำงานพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ในเด็กแรกคลอด จะเป็นไปอย่างไม่มีวัตถุประสงค์ เด็กอายุ 1-2 เดือนจะไม่ ไขว่คว้าของเล่น แต่ก็มีการเคลื่อนไหวของแขน ขา มือ และ เท้า ซึ่งสมองส่วนเซนซอรี่มอเตอร์คอร์เท็กซ์ สมองส่วนทาลามัส และ สมองส่วนเบซาลแกงเกลีย ที่มีเส้นใยประสาท และไขมันค่อนข้างครบถ้วน เมื่อแรกคลอดจะทำหน้าที่พื้นฐานนี้
เมื่อเด็กโตขึ้นสมองมีการเจริญเติบโต พัฒนาการเพิ่มขึ้น ก็จะมีการทำงานอย่างมีวัตถุประสงค์ เช่น เด็ก 4-5 เดือนก็จะเริ่มไขว่คว้า ของเล่น ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานของประสาทการเห็น และการทำงานของกล้ามเนื้อ สมองส่วนหลังของฟรอนทอลโลบ ที่ติดกับ พารายทอลโลบ จะควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อของร่างกาย เช่น สั่งให้ยกมือขึ้นไปจับของเล่นการควบคุมการทำงาน ของกล้ามเนื้อก็เป็นเช่น เดียวกับ ประสาทการรับความรู้สึกโดยที่จะมีแผนที่ในสมอง สมองข้างซ้าย จะควบคุมการทำงาน ของกล้ามเนื้อข้างขวา ส่วนสมองข้างขวาจะควบคุมการทำงาน ของกล้ามเนื้อข้างซ้าย รวมถึงกล้ามเนื้อใบหน้า การหลับตา การขยับปาก และแขนขาด้วยเช่น กัน คนไข้ที่มีเส้นเลือดตีบ เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองบางส่วนได้ สมองส่วนนั้นก็จะหยุดทำงาน คนไข้จะเป็นอัมพาต ไม่สามารถจะขยับแขนขาข้างตรงข้ามกับสมองที่ขาดเลือดได้
การทำงานของกล้ามเนื้อ แบ่งออกเป็น การทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ตัวอย่างของการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การเดิน การยกมือ การขยับแขนขา การขึ้นลงบันได การถีบจักรยาน ในขณะที่การทำงานของ กล้ามเนื้อมัดเล็กจะเกี่ยวข้องกับการเขียนหนังสือ การติดกระดุม การผูกเชือก การวาดรูป การทำงานฝีมือ การทำงานเหล่านี้ถ้าหากขาดการฝึกฝนตั้งแต่เล็ก ก็จะทำให้ไม่มีทักษะนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นทักษะการทำงาน ของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ หรือทักษะการทำงานของ กล้ามเนื้อมัดเล็กก็ได้
3. การมองเห็น
สมองจะต้องอาศัยการมองเห็นภาพ ซึ่งจะนำไปสู่สมอง ด้วยเส้นประสาทตา และหลังจากนั้นสมองส่วนของการมองเห็น หรือ ออกซิปิทอลโลบ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของสมอง จะพัฒนาโครงสร้าง ที่จะตอบรับภาพ และแปลภาพที่เห็นออกมาให้มีความหมาย โดยอาศัย นีโอคอร์เท็กซ์ และสมองส่วนหน้า การมองเห็นเป็นการทำงานที่ละเอียดอ่อน จะเห็นว่าประสาทตามีเส้นใยประสาท 1 ล้านเส้นใย เทียบกับประสาทหู ซึ่งมีเส้นใยประสาทเพียง 50,000 เส้นใยเท่านั้น
นักวิจัยได้อธิบายถึงเรื่อง การมองเห็นว่า เริ่มด้วยข้อมูล หรือแสงไฟ หรือภาพต่าง ๆ เข้าสู่สายตา ผ่านไปยังจอภาพข้างหลังตา ซึ่งประกอบด้วย เซลล์ประสาท ต่อจากนั้นเซลล์ประสาทก็จะส่งข้อมูลไปยัง สมองที่เกี่ยวกับ การเห็น หรือออกซิปิทอลโลบ โดยผ่านทางเส้นใยประสาท ผ่านซีนแนปส์ หรือจุดเชื่อมต่อ ทำให้เกิดปฏิกิริยาสร้างสารเคมี และเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น การมองเห็นภาพ เป็นส่วนหนึ่งของความคิด แม้กระทั่งคนตาบอดมาตั้งแต่กำเนิดก็สามารถจะคิดจินตนาการรูปภาพได้ การมองเห็นจึงขึ้นอยู่กับ การทำงานของสมอง หรือสมองที่กำลังทำงานอยู่ ในขณะเดียวกันสมองก็ตอบสนอง ต่อการมองเห็นเพราะว่า ตากำลังทำงานอยู่ นักวิจัยยังค้นพบอีกว่า สมองพยายามที่จะสร้างแผนที่เกี่ยวกับ การมองเห็นขึ้นมาในสมอง โดยเฉพาะถ้าหากว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งขาดไป เช่น ถ้าหากเรามอง รูปภาพวงกลมมีเส้นโค้งขาดเป็นช่วง ๆ สมองก็จะพยายามเอาข้อมูลมาใส่ตรงช่องว่างที่หายไป ทำให้เกิดภาพของวงกลม การเห็นภาพต่าง ๆ ของเราเกิดจากตาประมาณ 20 % ในขณะที่อีก 80 % เกิดจากการทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับ การเห็น ข้อมูลเกี่ยวกับ การเห็นจะไปรวมกันที่ศูนย์กลางของการเห็น ที่อยู่ตรงส่วนกลางของสมองที่เรียกว่า แลทเทอรอล เจนนิคูเลท นิวเคลียส (Lateral Geniculate Nucleus-LGN) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ การเห็น มาทูรานา และวาเรรา ยังบอกอีกว่า เรามองเห็นผลส้มเป็นสีส้มได้แม้ว่า ในขณะนั้นจะไม่มีคลื่นแสงที่ทำให้เกิดสีส้มเลยก็ตาม เพราะสมองได้เก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ก่อนแล้ว และแปลผลออกมาเป็นสีส้ม
4. การได้ยิน
เมื่อเด็กอายุประมาณ 1 ปี สมองมีการสร้างแผนที่การได้ยินอย่างสมบูรณ์ เช่น เสียงนี้เซลล์ประสาทส่วนนี้รับผิดชอบ อีกเสียงหนึ่ง เซลล์ประสาท อีกที่รับผิดชอบ เป็นต้น เมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะไม่สามารถแยกเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนได้ เพราะจะไม่มีเซลล์ประสาท ที่ตอบสนองต่อเสียงนั้น เนื่องจากไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะฉะนั้นการที่เด็กยิ่งโตการเรียนรู้ภาษา ก็จะเป็นได้ยากขึ้น เนื่องจาก ไม่มีเซลล์ประสาท ที่ยังไม่ถูกจัด แผนที่เหลืออยู่ หรือไม่มีเซลล์ประสาทที่ยังไม่ถูกใช้งานไปใช้เรียนรู้ภาษา หรือคำใหม่ ๆ ได้ การเรียนรู้คำศัพท์ก็เช่น กัน ถ้าเด็กเล็ก ๆ มีแม่เป็นคนพูดเก่ง เด็กจะรู้คำศัพท์มากกว่าเด็กที่แม่ หรือพี่เลี้ยงพูดไม่เก่ง เช่น การวิจัยของ แจเนลเลน ฮัทเทนโลเคอร์ (Janellen Huttenlocher) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่า เด็กอายุ 20 เดือน ถ้าหากมีแม่คุยเก่ง เด็กก็จะรู้คำศัพท์มากถึง 131 คำ มากกว่าเด็กที่แม่พูดไม่เก่ง
ตอนยังเป็นทารกในครรภ์ เซลล์ประสาทก็มีความไวต่อการได้ยิน เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 4 เดือนครึ่ง อวัยวะที่เกี่ยวกับ การได้ยินพัฒนา จนสมบูรณ์แบบแล้ว สมองส่วนที่เรียกว่า เทมโพราลโลบ ซึ่งอยู่ด้านข้างของสมองทั้งซ้าย และขวา เป็นสมองส่วนที่สำคัญที่สุด เกี่ยวกับ การได้ยิน คือมีหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับ การได้ยิน พบว่าในสมองของเด็กแรกเกิด สมองส่วนนี้มีไขมัน หรือมันสมองห่อหุ้ม เส้นใยประสาท เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่สมองส่วนอื่นยังเพิ่งสร้างไขมัน หรือมันสมองห้อมล้อม เส้นใยประสาท ทารกในครรภ์ไม่เพียง ได้ยินเพียงอย่างเดียว แต่สามารถที่จะพยายามเลียนเสียง หรือเรียนรู้เกี่ยวกับ คำพูด พยายามขยับกล้ามเนื้อ ที่เกี่ยวกับ การออกเสียง โดยเฉพาะใน ลักษณะของการร้องไห้ด้วย ซึ่งทำให้เด็กสามารถร้องไห้ทันทีหลังคลอด คลื่นเสียงที่มาจากที่อื่น ๆ หรือรับมาจากประสาท ส่วนอื่น ก็จะส่งไปที่กลุ่มของประสาทสัมผัสที่อยู่ด้านในสุดของหู คลื่นที่เข้าไปนี้จะปรับเปลี่ยนคลื่นที่มีอยู่แล้วตามปกติ ทำให้เกิดเป็นคลื่นรูปต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ หนึ่ง คลื่นที่มีความถี่คงที่ สอง คลื่นที่มีความถี่เปลี่ยนแปลงไปมา ตลอดเวลา และสาม คลื่นที่เป็นผลลัพท์ระหว่างสองคลื่นแรก หลังจากมีการปรับตัวแล้ว คลื่นทั้งสามแบบนี้จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ออกมา เป็นความสูง ความลึก และความกว้าง สมองสามารถอ่าน หรือแปลข้อมูลของแสง และเสียงจากข้อมูลที่มีอยู่แล้วในแผนที่ในสมอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่ในห้องมืด ๆ และได้ยินเสียงจุดไม้ขีดไฟ เราจะมีความรู้สึกว่าได้กลิ่นกำมะถัน และเห็นแสงไฟ หมายความว่า ในโลกที่เรารู้จักนี้ เราสามารถจะบอกตำแหน่ง หรือความเป็นไปของ สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ได้จากผล 3 อย่าง คือ หนึ่ง ข้อมูล หรือคลื่น หรือกระแสไฟฟ้า จากสมองของเราเอง สอง ข้อมูล หรือคลื่น หรือกระแสไฟฟ้าจากโลกภายนอกที่เข้ามา และสาม คือผลรวมระหว่าง คลื่นทั้งสอง ผลลัพท์ของกระแสไฟฟ้าสูงสุด ท่ามกลางเซลล์ประสาทเหล่านี้ วัดจากประสาทสัมผัสทั่วร่างกาย
5. สมองกับความฉลาด และความคิด
เราไม่สามารถบอกได้ว่า สมองส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือจุดใดจุดหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวกับ ความฉลาด และความคิด แต่เชื่อกันว่า สมองส่วนใหม่ ที่เรียกว่า นีโอคอร์เท็กซ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับ ความฉลาด และความคิด
ความฉลาด (Intelligence) เป็นสิ่งที่เราใช้ในการตัดสินใจเรื่อง ต่าง ๆ หรือเป็นสิ่งที่มาจาก สมอง และความรู้สึกนึกคิด ถ้าสมองยิ่ง สลับซับซ้อนมาก และพัฒนาได้สมบูรณ์ สมองจะมีความสามารถ ที่จะเรียนรู้ และมีประสบการณ์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เก็บข้อมูล ใส่กลับเข้าไปในสมอง ทำให้สมองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประสบการณ์ที่เราได้มานั้น ทำให้พฤติกรรมการตอบสนอง ของเราต่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย
สมองของเราเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก เซลล์ประสาทสามารถที่จะเก็บข้อมูล แปลข้อมูลที่เข้ามาเป็นคลื่นกระแสไฟฟ้า แล้วเก็บไว้เป็น ประสบการณ์อยู่ในสมอง เปรียบได้กับ คลื่นไฟฟ้าที่โทรทัศน์รับเข้ามา แล้วแปลออกมาเป็นภาพบนจอให้เราเห็น คลื่นสมอง หรือคลื่นไฟฟ้าในสมองจะเป็นตัวกำหนดลักษณะ ของสิ่งที่เรารับรู้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพ สติปัญญา อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกตัว และอื่น ๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ยังสร้างสนามกระแสไฟฟ้าที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น สนามกระแสไฟฟ้าที่เฉพาะ สำหรับคณิตศาสตร์ หรือเฉพาะสำหรับดนตรี ศาสนา หรืออื่น ๆ ซึ่งจะรับแต่กระแสไฟฟ้าที่เหมือน ๆ กันเข้ามาอยู่ในสนามเดียวกัน
6. ความจำ
ดร.วิลเดอร์ เพนฟิลด์ (Dr.Wilder Penfield) แพทย์ผ่าตัดสมองที่มีชื่อเสียงมาก ได้ผ่าตัดสมองคนไข้ประมาณ 1,500 คน และทำการเลื่อยเปิด กะโหลกศีรษะออก โดยไม่ได้ใช้ยาสลบแต่ใช้ยาชา คนไข้ตื่นตลอดเวลาแต่ไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย เมื่อ ดร.เพนฟิลด์ ใช้เข็มจี้ที่สมอง เพราะว่าเนื้อสมองจะไม่มีอวัยวะรับความรู้สึก สิ่งนี้ทำให้เขาได้ค้นพบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับ สมอง
นักวิจัยได้เสนอ ทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับ เรื่อง ความจำ เรารู้ว่าเซลล์ประสาทเซลล์เดียวไม่สามารถจะมีความจำที่เฉพาะเจาะจงได้ จะต้องเป็นการทำงานของกลุ่มเซลล์ประสาท แต่การทดลองของ ดร.เพนฟิลด์ แสดงให้เห็นว่าเซลล์ประสาท 1 เซลล์ สามารถที่จะมีความจำเฉพาะเจาะจงได้ เซลล์ประสาทนี้เป็นเซลล์ที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง หรือ ทาร์เก็ตเซลล์ (target cell) แล้วเซลล์ประสาทนี้เองเป็นจุดรวมของกลุ่มของเซลล์ประสาทหลาย ๆ เซลล์รวมกัน ทำงาน เพื่อที่จะสร้างความจำขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งทาร์เก็ต เซลล์ และกลุ่มของเซลล์ประสาทนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่ใหญ่ต่อไปอีก และแต่ละเครือข่ายก็จะมีปฏิกิริยาซึ่งกัน และกัน กลุ่มของเซลล์ประสาทกลุ่มนี้จะติดต่อกับเซลล์ประสาทกลุ่มอื่น มีเส้นใยประสาทที่ติดต่อถึงกันอย่างสลับซับซ้อน ซึ่งผลลัพท์ของการเชื่อมโยง ของเซลล์ประสาทหลาย ๆ เซลล์นี้เองทำให้มีประจุไฟฟ้าสูงสุดในกลุ่มของเซลล์ประสาท (Peak Of Activity In Population Of Neuron) และผลก็คือ เกิดความจำ
เซลล์ประสาทที่เป็นเป้าหมาย หรือทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง หรือเป็นกุญแจสำคัญอาจจะเป็นตัวเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ ประวัติส่วนตัว อย่างไรก็ตาม เซลล์ประสาทเหล่านี้คงมีไม่เกิน 1 ล้านเซลล์ เพราะโดยทั่วไปสมองเราจะมีเซลล์ประสาทอยู่ประมาณ 1 แสนล้านเซลล์ แสดงว่า เซลล์ประสาท เหล่านี้จะมีไม่เกิน 0.000001 % ซึ่งสมอง ไม่สามารถไปดึงข้อมูลออกมาจากเซลล์ประสาทเซลล์เดียวได้ โดยทั่วไปเราจะดึงข้อมูล ออกมาจาก กลุ่มเซลล์ประสาททั้งกลุ่มที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับ ความจำ ซึ่งความจำนี้ค่อนข้างจะลางเลือน ไม่ชัดเจนเหมือนกับที่ ดร.เพนฟิลด์ ทำการกระตุ้นเซลล์ประสาท 1 เซลล์
ความจำของคนเรายังมีอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า เวิร์กกิ้งเมมโมรี่ (Working Memory) ซึ่งเป็นความจำระยะสั้น ที่เมื่อได้รับข้อมูลมาแล้ว ก็จะเอาข้อมูลนี้มาใช้ในการทำงาน หรือส่งไปเก็บ หากว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยเห็น หรือเรียนรู้มาก่อน สมองส่วนที่ทำงานในเรื่อง ของความจำแรกเริ่มเมื่อได้รับข้อมูลที่เรียกว่า เวิร์กกิ้งเมมโมรี่ นี้ (ซึ่งอยู่ในสมองด้านหน้าทางขวา และทางซ้าย อยู่ลึกเข้าไป 1 นิ้ว จากหน้าผาก มีขนาดเท่าแสตมป์ หรือมีขนาดไม่เกิน 1 นิ้ว) ก็จะทำหน้าที่เป็นสมุดทดชั่วคราวในสมอง ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง กลิ่น ข้อมูลทุกอย่างจะถูกส่งมาที่สมองส่วนนี้ก่อน หลังจากนั้นถ้าหากไม่ถูกใช้ก็จะถูกลบทิ้งไป หรือหากต้องการเก็บไว้เป็นความจำระยะยาวก็จะส่งต่อไปยังสมองส่วนลึกลงไป คือ ฮิปโปแคมปัส ที่ทำหน้าที่เก็บความจำระยะยาว
เช่น เดียวกัน ถ้าเราต้องการจะนึกถึงหมายเลขโทรศัพท์ หรือเมื่อเห็นหน้าคนคนหนึ่งแล้วพยายามจะนึกว่าคนนี้คือใคร หรือถ้าเราต้องการ คิดเลข หรือเขียนหนังสือให้เป็นประโยค ก็ต้องใช้สมองส่วนเวิร์กกิ้งเมมโมรี่นี้เช่น กัน คือ จะต้องส่งข้อมูล ไปที่สมองส่วนนี้ เพื่อจะลงไปที่สมองส่วนลึกลงไปเพื่อจะค้นหาข้อมูลที่ต้องการ เพราะฉะนั้น สมองส่วนนี้ จึงเรียกว่า ช็อตเทอมเมมโมรี่ (Short Term Memory) หรือ ออนไลน์เมมโมรี่ (On Line Memory) หรือเป็นกระดานดำของสมอง
7. การเรียนรู้ภาษา
ภาษาเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ กล้ามเนื้อของเรามีการเคลื่อนไหวตอบสนองต่อเสียงแบบอัตโนมัติ ซึ่งเกิดขึ้น ตั้งแต่เป็นทารก ในครรภ์อายุประมาณ 7 เดือน และหลังคลอดสมองก็พร้อมที่จะทำงานได้ทันที เพราะเส้นใยประสาท และระบบประสาท ทั้งหลายมีพร้อมอยู่แล้ว ต้องการเพียงแค่สิ่งกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ก็จะเกิดการเรียนรู้ภาษาขึ้น ต่อคำถามว่า เด็กเรียนรู้ที่จะพูด ได้อย่างไร ก็ต้องรู้ว่าสมองเกี่ยวกับ การพูดทำงานอย่างไร การพูดของคนเราเกิดจากการทำงาน ของกลุ่มเซลล์ประสาท ที่ติดต่อถึงกัน เพื่อสร้างคำพูดขึ้นมา ซึ่งแต่ละคำอาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกับคำอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในกลุ่มเซลล์ประสาทที่สร้างคำพูดนี้ ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อที่จะใช้เรียกคำแต่ละคำ สิ่งของแต่ละสิ่ง เช่น ผลไม้ ดอกไม้ หน้าตา หรืออื่น ๆ ด้วยการทำงาน ติดต่อกันของกลุ่มเซลล์ประสาท ทั้งหมด หรือระหว่างกลุ่มเซลล์ประสาทกลุ่มย่อย ๆ นี้ จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ภาษาขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการใส่คำใหม่ ๆ เข้าไปในสมอง หรือเรียนรู้คำใหม่ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงการเชื่อมโยง ระหว่าง กลุ่มเซลล์ประสาทกลุ่มเก่า กับกลุ่มใหม่อยู่ตลอดเวลา การติดต่อไปมาอย่างนี้ ในที่สุดสมองทุกส่วนก็จะล่วงรู้คำคำใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ในคนไข้ที่เป็นโรคสมองอักเสบ คือ มีความผิดปกติในเซลล์ประสาทกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้เสียความสามารถ ในเรื่อง ของภาษาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเซลล์ประสาทกลุ่มนั้น ทำให้ไม่สามารถเรียกชื่อบางชื่อได้ เช่น ไม่สามารถจะเรียก “ดอกไม้” ได้ เพราะโรคสมองอักเสบ ได้ทำลาย กลุ่มเซลล์ประสาท ที่ทำหน้าที่เรียกคำว่า “ดอกไม้”
ในเรื่อง ความเข้าใจภาษานั้น สังเกตได้จากการเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ของเรา คือ เมื่อเราได้รับการสอนให้อ่านออกแล้ว เราสามารถเกิดความเข้าใจข้อความที่อ่านทั้งหมดแม้ว่าในข้อความนั้นอาจจะมีคำใหม่ ๆ บางคำที่เราไม่เข้าใจแทรกอยู่ก็ตาม โดยไม่จำเป็นต้องไปเปิดพจนานุกรมดูความหมายคำที่ไม่เข้าใจ สมองจะพยายามใช้ความเข้าใจประโยคทั้งหมดเพื่อจะแปลคำใหม่นี้ หลังจากที่แปล คำใหม่ได้แล้ว สมองจะพยายามเก็บคำใหม่นี้ไว้ในสมอง
ส่วนในเรื่อง การออกเสียง จะพบว่าการออกเสียงที่เรียกว่า โฟเนติก (Phonetic) คือ การเปล่งเสียงออกมาเป็นคำ ๆ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ถึงแม้ภาษาที่คนทั่วโลกใช้จะมีเป็นพัน ๆ ภาษา แต่ว่าแต่ละภาษาสร้างขึ้นจากการเปล่งเสียงออกมาเป็นคำ ๆ ประมาณแค่ 50 เสียงเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับเลขคณิตที่ใช้ตัวเลขแค่ 0-9
8. การสร้างบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพของแต่ละคน จะเป็นสิ่งประจำตัวของคนคนนั้น ที่ทำให้แตกต่างจากคนอื่น และมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่จะประกอบกัน ทำให้คนแต่ละคน มีบุคลิกภาพเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานประสานกัน ของสมองที่ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และประสบการณ์ ที่ได้รับ จากสิ่งแวดล้อม
บุคลิกภาพมีความสำคัญต่อชีวิตเราอย่างยิ่ง ทำให้เรารู้สึกถึงความสำคัญของตัวเอง เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ว่า ขณะนี้ตัวเราเป็นคนอย่างไร และเราจะไม่มีทางเข้าใจว่าขณะนี้เราเป็นคนอย่างไร ถ้าไม่รู้ว่าเราควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุด เราจะต้องค้นพบตัวเอง และเป็นตัวของตัวเอง
ทฤษฎีหนึ่งที่เกี่ยวกับ บุคลิกภาพอาศัยความสัมพันธ์ระหว่าง อารมณ์ และความสามารถในการรู้ตัวเอง (Self Awareness) ถือเป็นความฉลาด อย่างหนึ่ง เพราะการที่เราจะรู้ตัวเอง หรือรู้พฤติกรรมของเราเองได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามองตัวเราอย่างไร เมื่อเทียบกับสิ่งแวดล้อมในโลกนี้ และเราจะควบคุมพฤติกรรมของเราได้อย่างไร ซึ่งความสามารถที่จะจัดการ และควบคุมชีวิตเรานี้ เป็นความสามารถที่เรียกว่า ประสิทธิภาพส่วนบุคคล (Self Efficacy) คนที่มีประสิทธิภาพส่วนบุคคลสูง จะมีความมั่นใจในการมี พฤติกรรมโต้ตอบที่ถูกต้อง แต่คนที่มีประสิทธิภาพในตัวเองต่ำจะมีความกระวนกระวาย มีความกังวลเมื่อจะต้องมีการโต้ตอบต่อ สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของคนคนนั้น ความรู้ตัว และประสิทธิภาพส่วนตัวนี้เองจะรวมกันเป็นบุคลิกภาพขึ้น
9. ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System)
ระบบประสาทอัตโนมัติ ประกอบด้วย ประสาท 2 ส่วน ที่เรียกว่า ซิมพาเทติก (Sympathetic) และ พาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุม การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหัวใจ และต่อมต่าง ๆ ของร่างกาย ควบคุมการทำงาน ของเส้นเลือด ความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ ม่านตา การไหลของ เหงื่อ น้ำตา และน้ำลาย การเคลื่อนไหวของลำไส้ การควบคุมกระเพาะปัสสาวะ และความผิดปกติทางเพศ การทำงานต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นจะต้องอาศัยการ ทำงานที่ได้สมดุลของ ระบบประสาทอัตโนมัติ ทั้งสองระบบ ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำงานโดยผ่านการหลั่งสารเคมีที่สำคัญ คือ อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) และ นอเอพิเนฟริน (Norepinephrine) สมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของประสาทอัตโนมัตินี้จะอยู่ที่สมองด้านหลัง หรือส่วนที่เป็น แกนกลางของสมอง ซึ่งจะมีกลุ่มของเซลล์ประสาท ที่อยู่นอกเหนือจากสมอง และไขสันหลัง นอกจากกลุ่มของเซลล์ประสาทที่อยู่ที่แกนสมอง ที่ควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติแล้ว ยังมีการควบคุม การทำงานของเซลล์ประสาทเหล่านี้จากสมองส่วนเหนือขึ้นไป ซึ่งจะมาจากสมองส่วนหน้า คือ ฟรอนทอลโลบ สมองส่วนที่เกี่ยวกับ อารมณ์ และสมองส่วนกลาง ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบต่อมไร้ท่อ
ตัวอย่างการทำงาน ของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น หากคนเรา หรือสัตว์เกิดความกลัว เตรียมพร้อมที่จะหนี หรือจะสู้ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็จะตอบสนองโดยสมองจะอยู่ในภาวะตื่นตัว การเต้นของหัวใจจะเร็วขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น ม่านตาจะขยาย ระบบลำไส้จะทำงานน้อยลง อาจจะมีเหงื่อออกมาก ถ้าเป็นสัตว์ก็จะแสดงอาการขู่คำราม ขนลุกชัน เตรียมพร้อมที่จะสู้ หรือหนี ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้เป็น ปฏิกริยาตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติ
แต่ถ้าสัตว์ หรือคนเราอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลาย ไม่มีความกลัว หรือเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ ระบบการเต้นของหัวใจจะเต้นอย่าง สม่ำเสมอ ระบบการหายใจเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ระบบทางเดินอาหารเกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลำไส้อย่างราบรื่นสมบูรณ์
การควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก ยังควบคุมผ่านการทำงานของต่อมหมวกไตด้วย ต่อมนี้จะหลั่งสารเคมีที่เรียกว่า เอพิเนฟริน (Epinephrine) หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ อะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งมีหน้าที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ม่านตาขยาย คือมีการทำงานของระบบซิมพาเทติกเพิ่มมากขึ้น ถ้าเกิดความกลัวมาก ๆ ระบบขับถ่ายก็จะหยุดทำงานด้วย หรือหากกลัว มากเกินไป ก็ไม่สามารถจะยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ ของระบบขับถ่ายได้ เพราะฉะนั้นคนบางคนจะกลัวจน ปัสสาวะอุจจาระราด จะเห็นว่าอาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลการทำงาน ของระบบประสาทอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีระบบประสาท อีกส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่สำคัญเช่น กัน ในการควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย สมองส่วนนี้เรียกว่า ไฮโปทาลามัส ซึ่งจะอยู่ใกล้ ๆ กับสมองส่วนลิมบิก หรือสมองส่วนของอารมณ์
สมองส่วนไฮโปทาลามัส จะควบคุมอวัยวะภายในร่างกายผ่าน ทางระบบประสาทอัตโนมัติที่กล่าวไปแล้ว และควบคุมระบบต่อมไร้ท่อ ที่สร้างฮอร์โมนที่จะไปควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างเช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต นอกจากนั้นยังควบคุมความสมดุลของน้ำ ให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้มีปริมาณของน้ำ และเกลือแร่ที่สมดุลในร่างกาย ควบคุมการกินที่ทำให้กินจุมากน้อย ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้สูงขึ้น หรือต่ำลง ควบคุมการนอนหลับ
การควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อ โดยผ่านต่อมใต้สมอง ต่อมใต้สมอง จะสร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่ควบคุมต่อมไร้ท่อต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล การทำงานที่เป็นปกติของต่อม ไร้ท่อเหล่านี้เป็นผลมาจาก การควบคุมระดับฮอร์โมน ในร่างกาย ให้อยู่ในระดับปกตินั่นเอง