ฉลากอาหาร (food labelling) ความหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 เรื่องฉลากอาหาร พ.ศ.2543 ให้คำนิยามของฉลากอาหาร รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใดๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของภาชนะที่บรรจุอาหาร (รวมถึงแผ่นพับและฉลากคอขวด)โดยกำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุ
ข้อมูลที่แสดงบนฉลากอาหารนั้นสามารถจำแนd
ตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีการปรุง คำเตือนต่างๆ (กรณีที่กฎหมายกำหนด)
- ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบ ซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อยและปริมาณอาหาร (น้ำหนัก หรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจ
- ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่างๆ
- ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย.(กรณีที่กฎหมายกำหนด) และตราสัญลักษณ์ต่างๆ
โดยมีข้อมูลที่แสดงบนฉลากดังต่อไปนี้
1. เครื่องหมายแสดงทะเบียนหรือเลขอนุญาตใช้ฉลากอาหาร จะมีอักษรย่อของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คือ อย. อยู่ติดกับแถบป้ายตัวอักษรย่อ ซึ่งแสดงสถานภาพของสถานที่ผลิต และ ประเภทของอาหาร เช่นผลิตในประเทศไทยใช้อักษรย่อว่า “ ผ ” ตามด้วยอักษร “ นป ” คือ น้ำปลา ตามด้วยเลขทะเบียนและปีที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน รวมแล้วจะเห็นเลขทะเบียนเป็น อย. ผนป 25 / 2540 ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อนะครับ ควรมองหาแถบป้ายนี้บนฉลาก เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลบนฉลากถูกต้อง
2. น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ เป็นน้ำหนักหรือปริมาณของอาหาร ที่ไม่รวมภาชนะบรรจุ บางกรณีอาจจะเป็นน้ำหนักเฉพาะเนื้ออาหาร ไม่รวมน้ำ ตามกฎหมายข้อมูลนี้จะต้องบอกเป็นหน่วยเมตริก คือ มีหน่วยน้ำหนักเป็นกรัม หรือมีหน่วยปริมาตรเป็น มิลลิลิตร
3. ชื่ออาหาร มีทั้งชื่อตามที่กฎหมายกำหนด เช่น นมพร้อมดื่ม และ ชื่อทางการค้า ส่วนประกอบที่สำคัญ โดยจะระบุเป็นปริมาณ ร้อยละของน้ำหนัก และระบุส่วนประกอบอย่างอื่นที่มีการเติมแต่งลงไปเช่น สารแต่งกลิ่น รส สารกันบูด สีผสมอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบ
4. วัน เดือน ปี ที่ผลิต หรือหมดอายุ อาจจะใช้คำว่า ผลิต หรือ หมดอายุ โดยทั่วไปอาหารที่มีอายุการเก็บสั้น เช่น นมพาสเจอร์ไรส์ มักระบุวันหมดอายุ ส่วนที่มีอายุการเก็บนาน เช่น อาหารกระป๋อง มักจะระบุวันที่ผลิต ถ้าพบว่ามีอายุเกิน 2 ปี ขึ้นไป ก็ไม่ควรซื้อ
5. ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้บรรจุ ถ้าเป็นอาหารนำเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิต
6. คำแนะนำในการเก็บรักษา เช่น ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น
และบอก ฉลากหวาน มัน เค็ม ที่ควรรู้สำหรับสุขภาพ
ส่วนที่ 1
บอกให้ทราบคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม ที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารนั้นต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น ต่อ 1 ถุง หรือ 1 ซอง เป็นต้น
ส่วนที่ 2
บอกให้ทราบว่า เพื่อความเหมาะสมควรแบ่งบริโภคกี่ครั้ง (จะแสดงส่วนนี้เมื่อมีข้อแนะนำให้แบ่งบริโภคมากกว่า 1 ครั้ง)
ส่วนที่ 3
บอกให้ทราบว่า เมื่อบริโภคอาหารนั้นหมดทั้งบรรจุภัณฑ์ (เช่น หมดทั้งถุง หรือหมดทั้งซอง ฯลฯ) จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ปริมาณเท่าไร
ส่วนที่ 4
บอกให้ทราบว่าเมื่อบริโภคอาหารนั้นหมดทั้งบรรจุภัณฑ์ (เช่น หมดทั้งถุง หรือหมดทั้งซอง ฯลฯ) จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม คิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
-ขอบคุณข้อมูล http://www.foodnetworksolution.com/
https://www.nstda.or.th/
และ https://www.scimath.org/