วิธีบริหารทําให้สมองดี
ไม่ว่าใครก็อยากมี สมองดี ความจำดี คิดอ่านไวทันใจกันทั้งนั้น วันนี้เรามี วิธีทําให้สมองดี มาฝาก เพราะตามที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ(National Institutes of Health) ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า
การดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ออกกําลังกายเป็นประจํา เลี่ยงบุหรี่และแอลกอฮอล์ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งกรดไขมันโอเมก้า-3 และฝึกใช้สมองอยู่เสมอ มีส่วนช่วยชะลอความจําเสื่อมและความผิดปกติของสมองได้ เราจึงมาแนะนำกิจกรรมยามว่างที่ช่วยบริหารสมองได้ดีนักแลมาฝากค่ะ
แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการบริหารสมองในวันว่างในหนังสือ คู่มือยืดอายุสมองว่า
“การพาตนเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ รวมถึงทํากิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เคยทํา จะช่วยกระตุ้นการทํางานของสมองทุกส่วน ทั้งในส่วนความจํา ประสาทสัมผัส และทักษะต่างๆ
“เพราะทุกขณะที่กําลังเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ สมองจะได้รับการบริหารโดยอัตโนมัติ เซลล์ประสาทจะถูกกระตุ้นให้แตกแขนงจนอาจกล่าวได้ว่า สมองเปรียบได้กับกล้ามเนื้อที่ยิ่งบริหารยิ่งแข็งแรง”
พร้อมกันนี้แพทย์หญิงสิรินทรยังแนะนําให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยวิธีบริหารสมอง
- ฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในชีวิตประจําวัน เช่น เปลี่ยนสถานที่ซื้อของ ที่กินอาหารกลางวัน ฟังวิทยุรายการใหม่ๆ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไป
- ทํางานอดิเรกที่ไม่เคยทํา เช่น งานฝีมือ เย็บปักถักร้อย เรียนดนตรี เต้นรํา เล่นกีฬา หรือฝึกโยคะ
- เล่นเกมฝึกสมองต่างๆ เช่น ปริศนาอักษรไขว้ ปัญหาเชาวน์ หมากฮอส และหมากล้อม หรือฝึกฝนความจําโดยพยายามจําหน้าและชื่อของบุคคลสําคัญ หรือเปิดพจนานุกรมท่องคําศัพท์ใหม่ๆ
- ทําสมาธิและฝึกตั้งสติ โดยกําหนดจิตให้รู้เท่าทันตนเองว่าขณะนี้มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร
กําลังทําอะไร หรือจะไปที่ไหน
- นัดพบเพื่อนฝูง พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือข่าวสารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจําวัน เพื่อฝึกสมองให้รู้จักคิดวิเคราะห์
- สมัครเข้าชมรมต่างๆ ทํากิจกรรมแปลกใหม่และทําความรู้จักกับเพื่อนใหม่
- เปลี่ยนการใช้ประสาทสัมผัสที่เคยใช้เป็นประจํา เช่น ใช้มือข้างไม่ถนัดหยิบของ เขียนหนังสือวาดรูป ปั้นดินน้ํามัน หรือ กวาดบ้าน
- ฟังเพลงคลาสสิก ช่วยกระตุ้นการทํางานของสมอง ทําให้มีสมาธิและความจําดี
- ฝึกผ่อนคลายสมองด้วยการมองโลกในแง่ดี มีเมตตา หมั่นนึกถึงแต่ประสบการณ์ดีๆ
หัดเป็นคนยิ้มง่ายและมีอารมณ์ขัน
ลดพฤติกรรมทำร้ายสมอง
- ไม่ทานอาหารเช้า เพราะอาหารเช้าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากในการเริ่มต้นทำงาน การไม่ทานอาหารเช้า จะทำให้มีสารอาหารไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สมองเสื่อมได้
- ชอบทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด เพราะ การทานน้ำตาลที่มากเกินไป นอกจากจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ยังขัดขวางการดูดซึมโปรตีนและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง และในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมได้
- ชอบทานอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปสูง (Highly processed foods) อาหารเหล่านี้มักมีน้ำตาล เกลือ และไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง ทำให้ร่างกายได้รับ น้ำตาล โซเดียม ไขมัน รวมทั้งแคลอรี่มากเกินกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบความสัมพันธ์ของการทานอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปสูงในปริมาณที่มากเกินไปกับการเสื่อมของเนื้อเยื่อสมองด้วย
- สูบบุหรี่บ่อยๆ และสูบเป็นประจำ ซึ่งบุหรี่มีสารนิโคตินและสารพิษอื่นๆ ที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดหัวใจวายกะทันหัน หลอดเลือดสมองตีบตัน และทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ นอกจากนี้อาจทำให้เซลล์สมองฝ่อและเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ โดยการสูบบุหรี่เพียงวันละ 1 – 2 มวน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้ได้รับควันมือสองก็มีความเสี่ยงเพิ่มด้วยเช่นกัน ซึ่งคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ จะลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ถึง ร้อยละ 30 – 50
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บ่อยๆเป็นประจำ ส่งผลต่อขนาดของสมอง โดยทำให้สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) หดตัว ซึ่งสมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับความจำ จึงส่งผลให้ความจำเสื่อม, ความคิดเลอะเลือน ระยะยาวจะทำให้สมองเสื่อม
- ชอบใช้สมองทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ขณะที่อดนอนหรือไม่สบาย เพราะการใช้สมองในช่วงเวลาที่ร่างกายไม่พร้อม จะยิ่งทำให้สมองอ่อนแอ
- อดนอนบ่อยๆเป็นเวลานานๆ เพราะ การอดนอนเป็นประจำ ทำให้สมองไม่ได้พักผ่อนและอาจทำให้เซลล์สมองตายได้
- ชอบนอนคลุมโปง เพราะ ทำให้สมองได้รับคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าออกซิเจน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
- เก็บตัว ไม่พบปะผู้คน พบว่า สมองมีกระบวนการทำงานในการแก้ปัญหาที่ช้าลง
- ได้รับอากาศที่เป็นพิษและมลภาวะต่างๆมากเกินไป เพราะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง
- ไม่ชอบใช้ความคิด ส่งผลให้การทำงานของสมองลดลง เพราะไม่ได้ถูกใช้งาน บ่อยๆ เข้าจะสูญเสียเซลล์สมอง หรือเส้นใยประสาท ยิ่งไม่ใช่บ่อยเท่าไร สมองก็จะเริ่มฝ่อมากขึ้นเรื่อยๆ
- เครียดสะสมเป็นเวลานานๆ ทำให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดอาการมึนงง ความจำแย่ลง และมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 326 และ https://goodlifeupdate.com/