สะเต็มศึกษา (STEM)
มารู้จัก ทักษะ STEM มีติดตัวทำไม?
ทักษะ STEM คืออะไร?
STEM นั้นมาจากอักษรตัวแรกของ 4 ศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)
ทั้ง 4 ศาสตร์คือสาขาวิชาความรู้ที่สำคัญและสามารถเชื่อมต่อหรือบูรณาการแต่ละสาขาเพื่อนำมาใช้ในการทำงาน รวมถึงการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา การตั้งคำถาม การค้นคว้าสิ่งใหม่ หรือการพัฒนานวัตกรรม
โดยคำว่า STEM เริ่มใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากปัญหาผลการทดสอบ PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for. International Student Assessment) ของประเทศและการประชุมของแต่ละภาคส่วน ทำให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาของศาสตร์ทั้ง 4 สาขา เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ
4 สาขาวิชาของ STEM
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า STEM ประกอบด้วย 4 ศาสตร์ ซึ่งก็สามารถแบ่งตามสาขาวิชาได้เช่นกัน ดังนั้นเรามาดูกันว่าแต่ละสาขาเกี่ยวกับอะไรบ้าง
1. วิทยาศาสตร์ (Science) สาขาวิชานี้จะเน้นความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติ โดยศึกษาผ่านกระบวนสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ ค้นคว้าอย่างมีขั้นตอน รวบรวมหลักฐาน ทดลองเพื่อพิสูจน์
2. เทคโนโลยี (Technology) สาขาวิชานี้เกี่ยวกับการประยุกต์ความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้จริง รวมถึงการแก้ปัญหา การพัฒนาหรือคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ผ่านกระบวนการทํางานทางเทคโนโลยี
3. วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) สาขาวิชานี้จะนำความรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาใช้พัฒนาเครื่องจักร หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์
4. คณิตศาสตร์ (Mathematics) สาขาวิชานี้จะเกี่ยวกับการคำนวณ การค้นคว้าสิ่งที่เป็นนามธรรม กระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์ การถ่ายทอดความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ ถือเป็นศาสตร์ที่ช่วยเชื่อมอีก 3 ศาสตร์ให้เข้ากัน
ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินชื่อของศาสตร์ทั้ง 4 สาขากันอยู่แล้ว และมักจะเรียนแยกกันตามวิชา แต่ทักษะ STEM จะเป็นการบูรณาการทั้ง 4 ศาสตร์เข้าด้วยกัน
แนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามแนว STEM Ed. เป็นอย่างไร
แนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามแนว STEM Ed เป็นการบูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 4 สหวิทยาการ กับชีวิตจริงและการทำงาน โดยการเรียนรู้จะเป็นลักษณะการบูรณาการแบบสหวิทยาการ คือ การจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนได้เรียนเนื้อหาและฝึกทักษะอย่างน้อย 2 วิชาร่วมกันโดยกิจกรรมมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทุกวิชา และ การบูรณาการแบบข้ามสาขาวิชา คือ การจัดการเรียนการสอนที่ช่วยนักเรียนเชื่อมโยงความรู้และทักษะที่เรียนรู้จากวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์กับชีวิตจริง โดยนักเรียนได้ประยุกต์ความรู้และทักษะเหล่านั้นในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนหรือสังคม
การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มมีลักษณะ 5 ประการคือ
(1) เป็นการสอนที่เน้นการบูรณาการ
(2) ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาทั้ง 4 กับชีวิตประจำวันและการทำอาชีพ
(3) เน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21
(4) ท้าทายความคิดของนักเรียน
(5) เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น และความเข้าใจที่สอดคล้องกับเนื้อหาทั้ง 4 วิชา