สาขาของคณะวิศวกรรมศาสตร์มีสาขาไหนบ้าง ?
“วิศวกรรมศาสตร์” คณะยอดฮิตสำหรับเด็กสายวิทย์ ที่เลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย พื้นฐานสำคัญของคุณสมบัติผู้เรียนคือ ต้องถนัดวิชาฟิสิกส์เป็นอย่างดีและต้องรอบคอบ การเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS ต้องยื่นคะแนนสอบตามคุณสมบัติคณะที่เลือก
วิศวกรรมที่เปิดสอนในประเทศไทย
เรารวมสาขา “วิศวกรรม” ที่เปิดสอนในประเทศไทย น้องๆหลายคนที่อยากจะเลือกเรียน วิศวกรรม อาจจะกำลังหาข้อมูลกันอยู่ เพราะวิศวกรรม มีสาขาให้เลือกเยอะแยะไปหมด สาขาวิศวะที่มีเปิดสอนในประเทศไทยมาให้ดูกันเรียบร้อยแล้ว อยากจะรู้ว่ามีสาขาอะไรบ้างและในสาขานั้นเรียนเกี่ยวกับอะไร ลองมาดูกันเลยครับ
1. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะได้เรียนศาสตร์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเน็ทเวิร์คต่าง ๆ ทั้งหมด และวิศวกรรมไฟฟ้าบางส่วนด้วย
2. วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรรมอุตสาหการจะเป็นการเรียนเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการ การออกแบบอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตต่าง ๆ รวมไปถึงการควบคุมเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตสมัยใหม่
3. วิศวกรรมไฟฟ้า
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีต่าง ๆ การประยุกต์การใช้ไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น การใช้งานสมการในการวิเคราะห์ การผลิตและส่งถ่ายพลังงานไฟฟ้า การจัดการกับสัญญาณไฟฟ้า อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ฯลฯ
4. วิศวกรรมโยธา
สำหรับสายงานของวิศวกรโยธา จะเกี่ยวกับการวางแผนและควบคุมการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนน สะพาน ระบบขนส่ง อาคาร ระบบสุขาภิบาล วิจัยและให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคต่าง ๆ ในการใช้วัสดุและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
5. วิศวกรรมชีวการแพทย์
สาขาวิชานี้เป็นการนำเอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อออกแบบสร้างหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพสูง เช่น การสร้างอวัยวะเทียม หรือพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ชิ้นใหม่ ๆ
6. สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
เป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดน้ำเสีย การควบคุมมลพิษทางอากาศ การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงการผลิตน้ำประปาและการจัดการระบบสิ่งแวดล้อม
7. สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ
เป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการบังคับน้ำ และ การควบคุมปริมาณและระดับน้ำไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การจัดการ และการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการการจัดการคุณภาพน้ำ
8. สาขาวิศวกรรมวัสดุ
สำหรับสาขานี้จะบูรณาการความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ของโครงสร้าง สมบัติ กระบวนการผลิต และการใช้งานของวัสดุเชิงวิศวกรรม เช่น โลหะ พอลิเมอร์ เซรามิก วัสดุประกอบ วัสดุนาโนวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
9. วิศวกรรมเครื่องกล
ศวกรรมเครื่องกลคือสาขาทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล เน้นศึกษาความรู้ด้าน ฟิสิกส์ เคมี มาประยุกต์ใช้กับงานด้านกลศาสตร์ พลศาสตร์ อุณหพลศาสตร์ กลศาสตร์ของไหลและพลังงาน รวมถึงการออกแบบเครื่องจักรกล เช่น ระบบไฮดรอลิก หุ่นยนต์ พลศาสตร์การบิน การควบคุมการผลิตเครื่องจักร
10. วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมเคมีสาขานี้จะศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบ วางแผน ควบคุมกระบวนการทางเคมี และพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเคมีต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการกายภาพ เคมี หรือชีวเคมี ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนส่วนผสม สถานะ และคุณสมบัติของวัตถุดิบให้กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการอย่างปลอดภัย
11. วิศวกรรมการบินและอวกาศ
สาขานี้จะเป็นเรื่องของการวิจัย ออกแบบ และวิเคราะห์โครงสร้างรูปร่างทางพลศาสตร์ เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระบบขับเคลื่อน วัสดุและกรรมวิธีในการผลิต การวางแผนและควบคุมการสร้างเครื่องบิน ขีปนาวุธ ยานอวกาศ ดาวเทียม รวมไปถึงการทดสอบหรือการซ่อมบำรุงด้วย
12. วิศวกรรมปิโตรเลียม
สำหรับสาขานี้จะเน้นศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนขุดเจาะและการผลิตไฮโดรคาร์บอน ซึ่งได้แก่ น้ำมันหรือก๊าช อันถือถือว่าอยู่ในภาค “ต้นน้ำ” ของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ สถานที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่คือนอกชายฝั่งหรือประจำแท่นขุดเจาะที่มีความเสี่ยง
13. วิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์
สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับเทคนิคทางด้านการออกแบบ และควบคุม สำหรับการขนส่ง จัดเก็บ เคลื่อนย้าย สินค้าและบริการ รวมไปถึงการวิเคราะห์ วิจัยปัญหาในภาคอุตสาหกรรม และส่วนที่ เกี่ยวข้องในระบบโซ่อุปทาน