สุนทรียศาสตร์ กับ ศิลปะ
สุนทรียศาสตร์ ศาสตร์แห่งสุนทรียะ
เราคงคุ้นเคยกับคำว่า “สุนทรียศาสตร์” กันพอสมควร ในวงวิชาการศิลปะ อาจารย์หรือนักศึกษาศิลปะก็มักใช้คำคำนี้เมื่ออธิบายความคิดความรู้สึกบางอย่างในงานศิลปะอยู่เสมอ แต่คุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าบริบทของคำว่าสุนทรียศาสตร์และขอบเขตความหมายของคำๆนี้คืออะไรกันแน่ มันเหมือน แตกต่าง หรือเกี่ยวข้องกับศิลปะอย่างไร ในคราวนี้เราจึงจะมาค้นหาว่าคำนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรและควรจะใช้มันในความหมายใดในหนังสือ Contextualizing Aesthetics: From Plato to Lyotard ซึ่งเขียนโดย Gene H. Blocker และ Jennifer M. Jeffers ได้แบ่งการจัดระบบสาระสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ของสุนทรียศาสตร์แบบประเพณีไว้สามช่วงเวลาคือ ยุคก่อนสุนทรียศาสตร์ (Pre-aesthetic), ยุคสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic) และยุคหลังสุนทรียศาสตร์ (Postaesthetic) ซึ่งยุคสมัยทั้งสามนั้นเทียบได้กับช่วงเวลาของ ก่อนสมัยใหม่ (Premodern), สมัยใหม่ (Modern), และหลังสมัยใหม่ (Postmodern) นั่นเอง ช่วงเวลา ก่อนสมัยใหม่ (Premodern period) ในปรัชญากรีกหรือปรัชญาคริสต์ ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์กระจัดกระจายแทรกอยู่ในหัวข้อปรัชญาต่างๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับความดี ความรักและความสมบูรณ์ เป็นต้น ไม่ได้มีระบบในการตั้งคำถามหรือการสืบค้นหาคำตอบที่เป็นแนวทางเฉพาะของตัวเองอย่างอิสระ ปัญหาเกี่ยวกับความดี ความงาม และความจริงไม่ถูกแยกแยะจากกันให้ชัดเจนแต่มักจะอธิบายรวมกันในฐานของคุณค่าเชิงอุดมคติที่สูงส่งที่สุดอันหนึ่งคำว่า “สุนทรียศาสตร์” ในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันและทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์ถูกสร้างให้เป็นระบบเป็นครั้งแรกในต้นศตวรรษที่ 18 จากการแบ่งแยกขอบเขตการสืบค้นทางปรัชญาในอังกฤษและเยอรมัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะแบ่งแยกปัญหาเชิงปรัชญาว่าด้วยความงามออกจากปัญหาอื่นๆให้ชัดเจนเป็นครั้งแรก
เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสนใจอย่างจริงจังในสุนทรียศาสตร์และนำมาซึ่งการแบ่งแยกเป็นปรัชญาสาขาหนึ่งนั้น คือการพัฒนาก้าวหน้าของทฤษฎีศิลปะที่เกิดการจัดหมวดหมู่งานศิลปะเข้าไว้ในกลุ่มต่างๆประเภทเดียวกัน เช่น จิตรกรรม กวีนิพนธ์ ประติมากรรม ดนตรี และการเต้นรำ หรือเกิดการแบ่งแยกจัดประเภทศิลปะบริสุทธิ์ (Pure art) ขึ้น จึงกล่าวได้ว่าปัญหาทางสุนทรียศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องศิลปะและความงาม รวมถึงประสบการณ์ทางสุนทรียะหรือแนวทางในการรับรู้ศิลปะ การรับรู้ความงาม และแนวคิด “ศิลปะเพื่อศิลปะ” เองก็เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันในวัฒนธรรมสมัยใหม่นี้เอง
คำว่า “Aesthetics” ถูกใช้เป็นครั้งแรกในงานเขียนชื่อ Reflections of Poetry (1735) ของ อเล็กซานเดอร์ เบามว์การ์เทน (Alexander Baumgarten, 1714-1762) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เบาว์มการ์เทนใช้คำนี้ในฐานะที่เป็นการศึกษาเชิงปรัชญาเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์ ซึ่งแยกออกจากทฤษฎีความรู้หรือญาณวิทยา (Epistemology หรือ Theory of knowledge เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ศึกษาเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์ เช่น ความรู้คืออะไร มนุษย์รู้ได้อย่างไร และเราสามารถรู้ความจริงได้หรือไม่เป็นต้น) ซึ่งเป็นความรู้ในเชิงเหตุผล
สุนทรียศาสตร์ แยกตัวเองออกมาจากญาณวิทยาโดยพยายามศึกษาประสบการณ์ทางความรู้สึก ซึ่งเชื่อมโยงกับอารมณ์และจิตใจ และศึกษาความคิดนามธรรมด้วยวิธีการทางตรรกะ
ศัพท์ทางทัศนศิลป
ศิลปะ (Art)
ศิลปะ เป็นผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองอารมณ์ความรู้สึก ความประทับใจและบันดาลใจจากความงามแห่งธรรมชาติมีรูปแบบของผลงานแตกต่างกันไปเช่นจิตรกรรมประติมากรรม
ดนตรีศิลปะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือวิจิตรศิลป์และศิลปะประยุกต์
วิจิตรศิลป์(Fine Art)
วิจิตรศิลป์ เป็นผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ได้รับความบันดาลใจและประทับใจในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แสดงเอกลักษณ์ทางสุนทรียศาสตร์ประกอบด้วยจิตรกรรมประติมากรรมสถาปัตยกรรมวรรณกรรมและดนตรี
ศิลปะประยุกต์(Applied Art)
ศิลปะประยุกต์เป็นผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ แต่คำนึงถึงสุนทรียภาพด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการออกแบบ เพราะเป็นศิลปะที่ต้องใช้หลักการออกแบบให้เกิดคุณค่าเพื่อประโยชน์ใช้สอยและความงามคู่กัน
สุนทรียภาพ (Aesthetic)
สุนทรียภาพ เป็นคำที่ใช้แสดงความซาบซึ้งในคุณค่าของความงดงาม ความไพเราะ ความรื่นรมย์ จากธรรมชาติหรือผลงานศิลปะ ความรู้สึกนี้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ตามความรู้สึกเฉพาะตนตั้งแต่เกิดสิ่งแวดล้อมและการศึกษา
รูปคนเหมือน (Portrait)
รูปคนเหมือน เป็นภาพลายเส้น ภาพเขียน ภาพถ่าย รูปแกะสลัก หรือปูนปั้น ของบุคคลจริง
ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือตายแล้วก็ตาม โดยปกติจะเน้นที่ใบหน้า และอาจทำ รูปเหมือนเฉพาะหัว ครึ่งตัว
หรือเต็มตัว อาจทำหน้าตรงหรือเอียง แต่มีส่วนน้อยที่จะทำด้านข้าง อาจอยู่ในท่านั่ง ยืน หรือนอน
ด้วยขนาดเท่าตัวจริงหรือใหญ่กว่ารูปคนเหมือนที่ทำ เล็กกว่าคนจริงเช่นในเหรียญตราหรือเหรียญกษาปณ์
ศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art)
ศิลปะพื้นบ้าน เป็นงานสร้างสรรค์โดยฝีมือชาวบ้านที่สร้างขึ้นเพื่อสืบทอดประเพณีนิยมมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
อุตสาหกรรมศิลป์(Industrial Art)
อุตสาหกรรมศิลป์ เป็นศิลปะที่ออกแบบและผลิตเป็นจำ นวนมาก ใช้วิทยาการ การศึกษาและค้นคว้าด้านเทคโนโลยีและวัสดุเพื่อนำมาปรับใช้ในการออกแบบให้มีความงดงามกลมกลืนกับหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์