อดัม สมิธ ( Adam Smith) นักปรัชญาศีลธรรม และ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้บุกเบิกชาวสกอตแลนด์
รู้จัก Adam Smith ผ่านชีวิตและผลงาน The Theory of Moral Sentiments และ The Wealth of Nations
สภาพเศรษฐกิจสังคม ตั้งแต่ประมาณช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ผลของการพัฒนาของวิทยาการต่างๆ การยอมรับแนวคิดมนุษย์นิยม ปัจเจกชนนิยม การปฏิรูปทางศาสนา ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ได้ทำให้ประชาชน พ่อค้า นักอุตสาหกรรม เริ่มมีสิทธิ์มีเสียง และมีความพยายามประท้วงต่อต้านการแทรกแซงและผูกขาดของภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรี อาทิ การตั้งกฏเกณฑ์ข้อบังคับ การผูกขาดให้อภิสิทธิ์กับชนชั้นสูง เป็นต้น รวมทั้งเรียกร้องเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดเสรีนิยมซึ่งเป็นพื้นฐานของแนวคิดคลาสสิค
บิดาของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิค ผู้ที่วางรากฐานแนวความคิดของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิค ได้แก่ อดัม สมิท ( Adam Smith ) ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือเศรษฐศาสตร์การเมืองเล่มสำคัญ คือ “An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations” (1776) เพื่อมุ่งตอบปัญหาที่ว่าจะทำอย่างไรประเทศจึงจะมีความมั่งคั่ง โดยสมิทเสนอว่ามือที่มองไม่เห็น ( Invisible hand ) เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆของสังคมเข้าด้วยกันอันจะนำพามาซึ่งความมั่งคั่งแก่สังคมโดยรวม โดยมีพื้นฐานอยู่บนการที่แต่ละบุคคลทำการตัดสินใจเพื่อให้ได้รับประโยชน์ส่วนตนสูงสุด และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเอกชนแต่อย่างใด ดังนั้นสมิธจึงสนับสนุนให้มีการค้าเสรีที่ใช้กลไกตลาด ต่อต้านแนวคิดของพาณิชยนิยมดั้งเดิมที่เน้นการแทรกแซง ควบคุม หรือผูกขาดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรัฐด้วยวิธีการต่างๆทั้งทางด้านการผลิต การบริโภค และการค้า
หลักการพื้นฐานของสำนักคลาสสิคคือ
1. เสรีภาพทางเศรษฐกิจ (economic freedom) ตามหลักการนี้บุคคลแต่ละคนมีเสรีภาพในการที่จะประกอบธุรกิจ และหน่วยธุรกิจก็มีเสรีภาพในการที่จะเข้าหรือออกจากอุตสาหกรรม นอกจากนี้บุคคลแต่ละคนก็ยังมีเสรีภาพในการที่จะแสวงหางานตามแต่ที่เขาจะหาได้ และออกจากงานเมื่อเขาปรารถนา
2. ความสนใจในผลประโยชน์ของตนเอง (self interest) ความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้โดยความคิดที่เชื่อกันตามที่ อดัม สมิท กล่าวไว้ว่า บุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนย่อมเท่ากับถูกชักนำโดย “มือที่มองไม่เห็น” (invisible hands) ก่อให้เกิดสวัสดิการแก่เพื่อนร่วมชาติ ดังนั้นในการที่แต่ละบุคคลดำเนินการสิ่งใดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเขาก็เท่ากับได้ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวมไปโดยปริยาย ตัวอย่างที่จะเห็นได้ในเรื่องนี้ได้แก่ การที่ผู้ประกอบการดำเนินการโดยการแสวงหากำไรก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการได้มีส่วนในการทำให้มีการจ่ายค่าแรงงานให้แก่ลูกจ้าง ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้จัดหาวัตถุดิบ และจัดให้มีซึ่งสินค้าและบริการสำหรับสังคม ความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองทำหน้าที่เป็นพลังชีวิตให้แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนรวม ตามทัศนะของ อดัม สมิท สังคมจะดำรงอยู่ได้โดยการแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นผลของความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองของแต่ละบุคคล
3. การแข่งขัน (competition) ในโลกที่มีการค้าเสรีและมีความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองการแข่งขันเป็นตัวควบคุมระบบเศรษฐกิจ การแข่งขันช่วยบังคับไม่ให้เกิดการผูกขาดเกิดขึ้น การที่อุปทานของสินค้ามาจากผู้ขายเป็นจำนวนมากรายย่อมช่วยควบคุมมิให้หน่วยธุรกิจใดหน่วยธุรกิจหนึ่งตั้งราคาสินค้าสูงเกินไป การแข่งขันยังช่วยป้องกันมิให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง ยิ่งกว่านั้นการแข่งขันยังเป็นพลังที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดนวกรรม (innovation) และทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าใหม่ ๆ บริโภคในราคาถูกลง และช่วยทำให้ไม่เกิดภาวะสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งล้นตลาดหรือขาดตลาด โดยกลไกที่ผ่านการปรับปรุงในราคาและผลิตผล
4. การดำเนินการโดยเสรี (laissez faire) ในโลกซึ่งทุกคนมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ มีความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองและมีการแข่งขันนั้น บทบาทของรัฐบาลก็ควรจะเป็นบทบาทที่น้อยมาก โดยรัฐบาลควรปล่อยให้เอกชนดำเนินงานโดยเสรี คือ รัฐบาลควรปล่อยให้เอกชนดำเนินงานไปโดยลำพังและปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปตามที่เป็นอยู่ (let alone, let be) นอกเหนือไปจากการออกตัวบทกฎหมาย การให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน การป้องกันประเทศและการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว รัฐบาลไม่ควรเข้าแทรกแซงในการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในการตัดสินกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น การดำเนินการโดยเสรีไม่ได้หมายความว่าระบบเศรษฐกิจจะต้องเป็นระบบที่ไม่มีรัฐบาลโดยสิ้นเชิงหรือเป็นระบบอนาธิปไตย (anarchy) แต่บทบาทของรัฐบาลจะเป็นบทบาทที่น้อยมากและจำกัดอยู่เฉพาะในการจัดให้มีโครงสร้างทางการเมืองที่เหมาะสมต่อการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market economy)