น้ำตาลถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่อินเดีย หลังค้นพบวิธีการเปลี่ยนน้ำอ้อยคั้นให้เป็นผลึกน้ำตาลที่เก็บง่าย ขนส่งง่าย ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5 จากนั้นมีการเผยแพร่กระบวนการผลิตน้ำตาลไปสู่ประเทศจีน ทำให้น้ำตาลกลายเป็นส่วนประกอบหลักในการทำอาหาร และ ของหวาน น้ำตาลเป็นที่รู้จักในยุโรปในศตวรรษที่ 12 โดยเรียกว่า เกลือหวาน เป็นสิ่งที่หายาก และมีค่ามากในสมัยนั้น จนเริ่มมีการสร้างโรงบดน้ำตาลจำนวนมากทำให้น้ำตาลมีราคาที่ถูกลง วัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาลคือ รากของชูการ์บีต
น้ำตาล แบ่งออกเป็น น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คือ กลูโคส ฟรุกโตส และ กาแลกโตส และ น้ำตาลโมเลกุลคู่ คือ มอลโตส ซูโครส (น้ำตาลทราย) และน้ำตาลแลคโตส หรือน้ำตาลในนมวัว เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีน้ำย่อยน้ำตาลตัวนี้ จึงทำให้มีอาการท้องเสียเมื่อรับประทานนมวัวเข้าไปจากการสำรวจของกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา เกินกว่าปริมาณแนะนำถึงกว่า 3 เท่าในขณะที่สถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ควรตระหนักอย่างยิ่งในเรื่องของการบริโภคน้ำตาล โดยเฉพาะเครื่องดื่มและอาหารที่มีน้ำตาลสูงซึ่งการการติดน้ำตาลหรือติดรสหวานนั้น มาจากนิสัยการกินตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกินน้ำตาลหรือของหวานเพิ่มมากขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ลักษณะของคนติดหวานจะมีความต้องการอยากกินของหวานอยู่เสมอ ช่วงที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ได้รับน้ำตาล อาจเกิดอาการซึมเศร้า อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย และขาดสมาธิการลดปริมาณน้ำตาลควรลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะถ้างดเด็ดขาด อาจทำให้เกิดอาการอยากของหวานมากขึ้นอีกได้ ซึ่งจะส่งผลให้บริโภคน้ำตาลมากกว่าเดิม และอาจทำให้เกิดความท้อใจจนไม่สามารถลดน้ำตาลลงได้
การลดการบริโภคน้ำตาล อาจเริ่มจากลดการเติมน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มลง ใช้สูตรหวานน้อยจากปกติ และค่อย ๆ ลดลงอีกในวันต่อมา ลดการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน และน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เลือกรับประทานผลไม้สดโดยไม่ต้องจิ้มเกลือน้ำตาล อาจเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นบางครั้งคราว และเพิ่มการออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้เกิดการเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกิน ไม่ให้มีการเปลี่ยนรูปเป็นไขมันสะสมอยู่ในร่างกาย
อันตรายจากการกินน้ำตาล ลมากเกินไป
- น้ำตาลทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น หากมีการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูง ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้รับมากเกินความต้องการไปสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้
- น้ำตาลทำให้สมดุลของเลือดเสียไป การบริโภคน้ำตาลที่มากจนเกินไป จะทำให้อินซูลินในร่างกายผลิตออกมาเกินความจำเป็น และตกค้างอยู่ในกระแสเลือด มีผลต่อระบบการไหลเวียนเลือด ซึ่งถ้าหากเป็นเรื้อรังก็จะส่งผลให้เซลล์กล้ามเนื้อเรียบบริเวณรอบ ๆ หลอดเลือดเจริญเร็วขึ้นกว่าปกติ ทำให้การไหลเวียนของเลือดเกิดการปั่นป่วนจนเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งความเสี่ยงโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
- น้ำตาลทำให้กระดูกและฟันไม่แข็งแรง น้ำตาลที่มีส่วนผสมของซูโครส ถือว่าเป็นอาหารชั้นดีให้กับเหล่าแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ คราบพลัก หรือเหงือกอักเสบได้
- น้ำตาลทำให้ร่างกายเซื่องซึม การกินน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำแทนที่จะสดชื่น กลับทำให้กรดอะมิโนที่ชื่อว่า ทริปโตฟานเร่งเข้าสู่สมองมาเกินไป ทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนในสมองมีผลทำให้เกิดอาการเหนื่อย ไม่กระฉับกระเฉง เซื่องซึมได้
- น้ำตาลเป็นสารเร่งผิวหนังเหี่ยวย่นและริ้วรอย ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปอาจทำให้ผิวเสีย หน้าแก่