เจาะลึก PAT3 ความถนัดวิศวะ ใน TCAS65 ที่ออกโดย สสว ….ใครอยากเข้าคณะวิศวะ แนะนำให้รับฟิตคะแนน PAT3 ไปสู้เลย เพราะใช้สัดส่วนคะแนนเยอะและยังเก็บคะแนนได้ง่ายกว่าที่คิด ถ้าคะแนนพุ่งโอกาสติดวิศวะก็พุ่งตามไปด้วยแน่นอน! ข้อสอบออกอะไร? ไปดูกัน….
PAT3 สำคัญยังไง?
ถ้าพูดถึงคะแนนหลักๆ ที่ใช้ยื่นเข้าวิศวะ คงหนีไม่พ้นคะแนน PAT3 เพราะเป็นข้อสอบที่ใช้วัดความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ และน้องๆ รู้ไหมว่า PAT3 แทบจะเป็นตัวตัดสินเลย ว่าเราจะติดคณะวิศวะอย่างที่ตั้งใจไว้รึป่าว เพราะฉะนั้นใครจะเข้าวิศวะไม่ควรทิ้ง
- ข้อสอบเก็บคะแนนง่ายกว่า PAT1, PAT2 เพราะข้อสอบ PAT3 เป็นแนว Speed Test มีจำนวนข้อเยอะ เน้นวัดความแม่นยำในการคำนวณ โจทย์จึงไม่ยากและไม่ซับซ้อนเท่า PAT1 กับ PAT2 แต่น้องๆ ต้องคิดให้เร็วและทำให้ไว
- ใช้สัดส่วนคะแนนเยอะมาก สูงสุดถึง 60% และใช้ยื่นทั้งรอบโควตาและรอบรับตรงเลย ใน TCAS รอบ 3 ใช้คิดสัดส่วนตั้งแต่ 20% – 60% และบางมหาวิทยาลัยมีกำหนดคะแนนขั้นต่ำต้องมากกว่าร้อยละ 30 ของคะแนนเต็มด้วย เช่น จุฬาฯ ใช้คะแนน 60%, ลาดกระบัง 50% และบางมด 20%
ข้อสอบออกอะไรบ้าง?
- ส่วนเนื้อหา
- กลศาสตร์ แรง มวล และการเคลื่อนที่
- ไฟฟ้า แม่เหล็กไฟฟ้า คลื่น แสง และเสียง
- เคมี สาร และสมบัติของสาร
- พลังงาน ความร้อน และของไหล
- คณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์เชิงวิศวกรรม
- ส่วนสมรรถนะ
- การคิดวิเคราะห์เชิงช่างและมิติสัมพันธ์
- ความถนัดเชิงช่าง
- ความคิดเชิงตรรกะเชิงช่าง
- สามัญสำนึกเรื่องความปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม
- การแก้ปัญหา
- ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ข้อสอบความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ มีทั้งหมด 70 ข้อ แบ่งเป็นปรนัย 60 ข้อ (ข้อละ 4 คะแนน) และอัตนัย 10 ข้อ (ข้อละ 6 คะแนน) คะแนนเต็ม 300 คะแนน ให้เวลาทำทั้งหมด 180 นาที
เนื้อหาจะแบ่งได้เป็น ฟิสิกส์วิศวกรรม คิดเป็น 50% ของข้อสอบ, ศักยภาพและความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ คิดเป็น 20%, คณิตวิศวกรรม คิดเป็น 19% และ เคมีวิศวกรรม คิดเป็น 11%
-ขอบคุณข้อมูล https://school.dek-d.com/