“เรอ” เป็นคำที่อธิบายถึงปฏิกิริยาของร่างกายในการปล่อยแก๊สที่สะสมอยู่ในกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร (Oesophagus) ออกมาทางปาก หลังจากการรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่ม โดยหลอดอาหารเป็นท่อทางเดินอาหารที่เชื่อมต่อจากลำคอไปสู่กระเพาะอาหาร
เมื่อคุณอ้าปากกว้างๆ หน้ากระจก หนึ่งในภาพที่เห็นนอกจากลิ้นและฟันคือ เนื้อเยื่อที่ยื่นออกมาบริเวณด้านหลังคอ ซึ่งส่วนนั้นเรียกว่า ฝาปิดกล่องเสียง (Epiglottis) การกลืนอาหาร ฝาปิดกล่องเสียงจะปิดกั้นหลอดลมไม่ให้อาหารไหลเข้าสู่ท่อลมและลงไปในปอด ขณะเดียวกันกระบวนการดังกล่าวเป็นการเปิดท่อทางเดินอาหารให้สามารถส่งผ่านอาหารไปยังกระเพาะอาหารได้
เสียงที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเรอ มาจากแก๊สที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารและหลอดอาหารส่วนบนในขณะที่ท่ออาหารปิด ซึ่งแก๊สมาจากหลายสาเหตุ โดยอาจมาจากอากาศที่เข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม อย่างรวดเร็ว การดื่มน้ำจากหลอด และการดื่มน้ำอัดลมซึ่งมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังมีแก๊สอื่น ๆ ที่ผลิตในลำไส้ในระหว่างการย่อยอาหาร ทั้งนี้แก๊สเหล่านี้อยู่ภายใต้ความดัน ซึ่งจะมีมากขึ้นเมื่อมีปริมาณแก๊สมาก เมื่อแก๊สที่มีความดันไหลผ่านพื้นผิวของหลอดอาหารส่วนบนและผ่านไปยังฝาปิดกล่องเสียง ทำให้พื้นผิวของหลอดอาหารส่วนบนและฝาปิดกล่องเสียงสั่นและเกิดเป็นเสียง “เอิ้ก”
สาเหตุของการเรอบ่อย
สาเหตุที่ทำให้เรอหรือเรอบ่อย เกิดจากการมีลมอยู่ในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ ซึ่งการที่มีลมมากกว่าปกติมาจากสาเหตุหลายประการ ที่พบบ่อย ได้แก่ รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มมากเกินไป โดยเฉพาะน้ำอัดลม อย่างไรก็ตาม การเรอไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีลมมากเกินไปเท่านั้น แต่อาจมาจากอาการไม่สบายท้องที่เกิดจากสาเหตุอื่น อาจเป็นเพราะปัจจัยดังต่อไปนี้
- การกลืนลม (Aerophagia) เป็นการกลืนอากาศเข้าไปทั้งที่เจตนาและไม่ได้เจตนา โดยการกลืนลมในปริมาณมากสามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมต่อไปนี้ เช่น
- รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มเร็วเกินไป
- รับประทานอาหารพร้อมกับคุยไปด้วย
- เคี้ยวหมากฝรั่ง
- ดื่มน้ำจากหลอดดูด
- สูบบุหรี่
- ใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี
- เกิดความวิตกกังวล
- หายใจลึก ยาว หรือเร็วกว่าปกติ
- ดูดนม เช่น เด็กอ่อนที่กินนมแม่
- การรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิดทำให้เรอบ่อยขึ้น เช่น
- น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อาหารที่มีแป้ง น้ำตาล หรือไฟเบอร์สูง
- อาหารที่ทำมาจากโฮลเกรนหรือธัญพืชเต็มเมล็ด
- ถั่ว
- บรอกโคลี
- หัวหอม
- กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
- กล้วย
- ลูกเกด
- ขนมปังโฮลวีท
- การมีกรดในกระเพาะอาหารมาก เช่น
- ดื่มกาแฟ (สารคาเฟอีน)
- ปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ และความเครียด
- มีอาหารตกค้างในกระเพาะอาหารมาก จากน้ำย่อยอาหารไม่เพียงพอ เช่น กินอาหารมากเกินไป
- การใช้ยาบางชนิด เช่น
- ยาอะคาร์โบส (Acarbose) เป็นยารักษาเบาหวาน ชนิดที่ 2
- ยาระบาย เช่น ยาแลคตูโลส (Lactulose) และยาซอร์บิทอล (Sorbitol)
- ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยานาพรอกเซน ยาไอบูโพรเฟน และยาแอสไพริน โดยการใช้ยาแก้ปวดในปริมาณมากอาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เรอบ่อย
- โรคประจำตัว ที่อาจทำให้มีอาการเรอบ่อย ได้แก่
- โรคกรดไหลย้อน
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- โรคกระเพาะอาหารหรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ภาวะแพ้น้ำตาลแล็กโทสซึ่งอยู่ในอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
- ภาวะการดูดซึมฟรุกโตสหรือซอร์บิทอล (Sorbitol) ที่ผิดปกติ คือไม่สามารถย่อยน้ำตาลฟรุกโตสหรือซอร์บิทอลได้
- โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร
- สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น
- โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรืออาการแพ้กลูเตนในอาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง
- โรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง ทำให้ขาดน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยอาหาร
- Dumping Syndrome เป็นภาวะที่กระเพาะอาหารย่อยอาหารและส่งไปยังลำไส้เร็วเกินไปก่อนที่อาหารจะถูกย่อย
–ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.pobpad.com/