กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( International Monetary Fund : IMF ) เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นแกนกลางของระบบการเงินระหว่างประเทศ เริ่มดำเนินงานเดือนมีนาคม ค.ศ. 1947 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
เมื่อประเทศต่าง ๆ ในโลกเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เรามักได้ยินข่าวว่า หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาของประเทศเหล่านั้นคือการกู้เงินจาก IMF ซึ่งประเทศไทยก็เคยเป็นลูกหนี้ IMF ตลอดจนกรณีที่ประเทศกรีซ ผิดนัดชำระหนี้จำนวน 1,500 ล้านยูโร เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ IMF รวมถึงทำให้กรีซเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกที่ผิดนัดชำระหนี้ต่อ IMF
า IMF คือใครมาจากไหน ทำไมถึงมีเงินให้กู้มากมาย เงินเหล่านั้นมาจากที่ใด วันนี้กระะปุกดอทคอม มีคำตอบมาฝากกันครับ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะกองทุนการเงิน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 โดยแนวคิดการก่อตั้ง IMF มาจากที่ประชุมว่าด้วยเรื่องการเงินและการคลังแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Monetary and Financial Conference ณ เมืองเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในนาม การประชุมเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods Conference)
วัตถุประสงค์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
1. ส่งเสริมให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมีเสถียรภาพและป้องกันการแข่งขันในการลดค่าเงิน
2. ช่วยแก้ไขปัญหาขาดดุลการชำระเงินของประเทศสมาชิกเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโลก
3. ดูแลให้ประเทศสมาชิกมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ
4. อำนวยความสะดวกและส่งเสริมการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศอย่างสมดุลเพื่อให้เกิดการจ้างงาน รายได้และพัฒนาการผลิตในระดับสูงรวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศสมาชิก
เงื่อนไขในการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เมื่อประเทศสมาชิกประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงถึงขั้นต้องขอความช่วยเหลือผู้กู้จะต้องทำความตกลง เกี่ยวกับแผนการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ หลักการสำคัญที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศใช้เป็นเงื่อนไขกับประเทศผู้ขอกู้ สรุปได้ดังนี้
1. การทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินมีเสถียรภาพทั้งภายในและต่างประเทศ ( Stabilization ) โดยการลดการขาดดุลการชำระเงินดุลบัชชีเดินสะพัด และ การดำเนินการให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่เหมาะสม
2. การสนับสนุนแนวคิดการเปิดเสรีทางด้านการเงิน และ การค้าระหว่างประเทศ ( Liberalization )
3. การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เข้มงวด ( Deregulation ) สำหรับธุรกิจบางประเภท เพื่อปล่อยให้กลไกของตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4. การโอนกิจการของรัฐให้แก่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการแทน ( Privatization )
แหล่งข้อมูล http://www.9bkk.com/