ระบบการสัทอักษรภาษาจีนกลาง (Pinyin) ตัวพยัญชนะ สระ และเสียงวรรณยุกต์ วิเคราะห์เทียบเสียงกับภาษาไทย หลักเบื้องจีนการเขียนตัวอักษรจีน ศึกษาเส้นขีดต่างๆของตัวอักษรจีนกฎเกณฑ์ระเบียบในการเขียนตัวอักษรจีน การสนทนาทักทายในชีวิตประจำวันเช่น การกล่าวทักทายสวัสดี ถามตอบชื่อ-สกุล กล่าวคำอำลา คำขอบคุณ การบอกวันเวลา สถานที่ การนับเลข คำศัพท์ที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ตลอดจนโครงสร้างรูปประโยค ไวยากรณ์ การใช้คำต่างๆ เกร็ดความรู้ที่มาของแต่ๆละเส้นขีดของตัวอักษรจีน
第一课 บทที่ 1
汉语拼音 Hanyu pinyin (ระบบการสัทอักษร พินยิน)
เนื่องจากตัวอักษรจีนเป็นตัวอักษรที่มาจากภาพวาดและวิวัฒนาการเรื่อยมาจนเป็นตัวอักษรจีนในปัจจุบัน โดยแต่ละขีด แต่ละเส้นของตัวอักษรจีนไม่สามารถนำมาผสมกันแล้วออกเสียงเป็นภาษาจีนได้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ระบบการออกเสียงสัทอักษรภาษาจีน (พินอิน拼音) ซึ่งได้ดัดแปลงมาจาก International Phonetic Alphabets เพื่อช่วยในการอ่านออกเสียงตัวอักษรจีนนั้น ๆ หากเทียบกับภาษาไทยแล้ว ระบบสัทอักษรจีนหรือพินอินนั้นมิได้ยากอย่างที่คิดเลย ภาษาไทยเรามีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ สัทอักษรจีนก็มีเช่นกัน
声母 shēngmŭ เซิงหมู่ พยัญชนะ
1. พยัญชนะต้นของภาษาจีนมี 21 เสียง
b (ปอ) p (พอ) m (มอ) f (ฟอ)
d (เตอ) t (เธอ) n (เนอ) l (เลอ)
g (เกอ) k (เคอ) h (เฮอ) j (จี)
q (ชี) x (ซี) z (จือ) c (ชือ)
s (ซือ) zh (จรือ) ch (ชรือ) sh (ซรือ) r (ยรือ)
หมายเหตุ zh ch sh r ให้ออกเสียงโดยยกปลายลิ้นขึ้นแตะบริเวณเพดานปาก ในการสะกดเสียงอ่านแบบไทยนั้น ผู้เขียนได้เลือกอักษร “ ร ” เป็นตัวแทนการออกเสียงยกลิ้นขึ้น มิได้หมายถึงให้สะกดเป็น จะ-รือ ชะ-รือ ซะ – รือ ยะ-รือ แต่ให้ออกเสียงควบกัน
2. พยัญชนะต้นกึ่งสระมี 2 เสียง คือ
y (i อี) และ w (u อู)
韵母 yùnmǔ อวิ้นหมู่ สระ
แบ่งออกเป็นสระเดี่ยว และสระผสม ดังนี้
1. 单韵母 สระเดี่ยว มี 6 เสียง ดังนี้
a (อา) o (โอ) e (เออ) i (อี) u (อู) ü ( อวี)
** สระ ü จะออกเสียงสระ u (อู) ควบกับ สระ i (อี) ( u + i ) โดยจุดสองจุดที่อยู่ด้านบน u เท่ากับสระ i นั่นเอง
หมายเหตุ บางตำรากล่าวถึงสระเดี่ยวไว้ว่ามี 8 เสียง ดังนี้
a (อา) o (โอ) e (เออ) i (อี) u (อู) ü ( อวี) ê (เอ) er (เออร)
2. 双韵母 สระประสม สังเกตได้ว่าการออกเสียงสระผสม จะเกิดจากเทคนิคการลากเสียงของสระแต่ละเสียงมาชนกัน
2.1 สระประสมสระหลัก
a (อา) + o (โอ) = ao (อาว) i (อี) + u (อู) = iu (อิว) e (เออ) + i (อี) = ei (เอย)
a (อา) + i (อี) = ai (ไอย) u (อู) + i (อี) = ui (อุย) o (โอ) + u (อู) = ou(โอว)
u (อู) + o (โอ)= uo (อัว) u (อู) + a (อา)= ua (อวา) เป็นต้น
2.2 หากสระ e (เออ) ตามท้ายสระตัวอื่นจะออกเสียงเป็นสระ ê (เอ)
i (อี) + e (เอ) = ie (เอีย) ü (อวี) + e (เอ) = üe (เอวีย)
2.3 สระประสมสียงนาสิก
กรณีที่มีเสียงพยัญชนะท้าย คือ – n หรือ – ng ตามหลังเสียงสระ เสียง – n จะเทียบได้กับเสียง “แม่กน” ในภาษาไทย และ – ng จะเทียบได้กับเสียง “แม่กง” ในภาษาไทย ส่วนเสียง – r ด้านท้ายนั้นกำกับไว้เพื่อแสดงว่าเป็นเสียงที่จำเป็นต้องม้วนหดลิ้นให้ยกขึ้นไปแตะบริเวณเพดานแข็ง
an (อาน) ang (อาง) ong (อง) en (เอิน)
eng (เอิง) iian (เอียน) in (อิน) iang (เอียง)
ing (อิง) iong ( อี+อง) uan (อวาน)
uang (อวาง) un (อูน) ün (อวิน)
üan (เอวียน) er (เออ-ร)
ในบรรดาสระเดี่ยว 6 เสียง จะมีอยู่ 2 เสียง คือ เสียงสระ i (อี) และ u (อู) ที่ไม่สามารถใช้เป็นสระขึ้นต้นพยางค์ตามลำพังได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีพยัญชนะกึ่งสระ y (อี) และ w (อู) มาช่วยกำกับแทนที่สระ i (อี) และ u (อู)