เครื่องวัดความดัน วัดอุณหภูมิ และตรวจนับการเต้นของชีพจร
เครื่องวัดความดัน วัดอุณหภูมิ และตรวจนับการเต้นของชีพจร อันนี้เป็น Project ที่ทำครั้งยังศึกษาอยู่ สำหรับ project นี้ความยาก(เอามากๆ)อยู่ที่ต้องนำมาใช้กับ คนจริง ๆ กว่าจะผ่าน ได้ ต้องปรับแต่งกันหลาย ครั้งมาก
แค่ออกแบบวงจรให้ตรวจจับสัญญาณครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ออกแบบซะวุ่นเลย สุดท้ายมาจบที่ D-Flip Flop ตัวเดียว นอกจากนี้ แต่คนที่ได้ทดลองใช้ ดู สภาพร่างกายไม่เหมือนกันสักคน โดยเฉพาะส่วนของความดัน ซึ่งตอนที่แพทย์ ตรวจวัดจริงๆ ก็เป็นการประมาณ ที่มี Error ได้ถึง +-10% เพราะ ความดันที่ได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะชีพจรในขณะนั้นด้วย ตรงส่วนอื่น ๆ ก็ OK ถ้าจะใช้งานจริง ก็ต้อง ปรับปรุง หลายอย่าง หลังจากเสร็จ รู้สึกว่าได้อะไร หลายๆ อย่างเยอะมากๆ จากการทำ Project
หรับหัวข้อนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนย่อย ๆเพราะ เนื้อหาที่นำเสนอ ตัดออกมากแล้ว แต่ก็ยังเยอะอยู่ ส่วนแรก ที่เกี่ยวกับหลักการ ก็คือทฤษฎีเบื้องต้น,ส่วนที่สอง วงจรและการออกแบบ
อุณหภูมิร่างกายและการควบคุม
อุณหภูมิร่างกายของคนมีค่าคงที่คือประมาณ 37 องศาเซลเซียส หรือประมาณ 98.6 องศาฟาเรนไฮน์และอุณหภูมิจะถูกควบคุมให้คงที่อยู่เสมอภายในช่วง 1 องศาฟาเรนไฮน์แม้อุณหภูมิภายนอกร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งนี้เพราะร่างกายมีกลไกควบคุมอุณหภูมิที่ดี
1. อุณหภูมิร่างกายปกติ
เมื่อกล่าวถึงอุณหภูมิร่างกายปกติต้องแยกเป็นอุณหภูมิภายในและอุณภูมิผิวนอกซึ่งมีค่าไม่เท่ากัน
1) อุณหภูมิภายใน (Core Temperature) เป็นอุณหภูมิที่อยู่บริเวณกลางของลำตัว ร่างกายต้องทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิภายในให้มีค่าคงที่ตลอดเวลาเมื่อกล่าวถึงอุณหภูมิส่วนนี้
2) อุณหภูมิผิวนอก (Surface Temperature) เปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิแวดล้อมแต่เมื่อต้องการทราบถึงความร้อนที่เก็บไว้ในร่างกาย ต้องหาอุณหภูมิเฉลี่ยดังนี้
อุณหภูมิเฉลี่ย = (0.7 * อุณหภูมิภายใน) + (0.3 * อุณหภูมิผิวนอก)
อุณหภูมิร่างกายปกติเมื่อวัดทางปาก (Oral Temperature) จะได้ 37 องศาเซลเซียส แต่ถ้าวัดทางทวารหนัก (Rectal Temperature) จะสูงขึ้นอีก 6 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ดี อุณหภูมิร่างกายของคนปกติสามารถแปรผันไปได้มาก ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยบางอย่างเช่น ในขณะออกกำลังกายอย่างหนัก จะทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น อาจทำให้อุณหภูมิที่วัดทางทวารหนักเพิ่มขึ้นได้ถึง 101 – 104 องศาฟาเรนไฮน์ อีกนัยหนึ่งถ้าร่างกายต้องอยู่ในสภาพ แวดล้อมที่เย็นจัดก็อาจทำให้อุณหภูมิทางทวารหนักลดต่ำลงจนลดต่ำกว่า 97 องศาฟาเรนไฮน์ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็ทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นได้ หรือเมื่อร่างกายทำงานน้อย เช่น ในภาวะตอนเช้ามืดอุณหภูมิร่างกายก็จะต่ำลงไปได้บ้าง อุณหภูมิร่างกายขึ้นอยู่กับสมดุลระหว่างการเกิดความร้อนและการเสียความร้อนของร่างกาย
รูป การไหลเวียนโลหิตของผิวหนัง
2. ความผิดปกติของการควบคุมอุณหภูมิกาย
อุณหภูมิกายส่วนกลาง (Central Body Temperature) จะมีเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 2 องศาเซลเซียส จากปกติ 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่ทำให้การทำงานของร่างกายผิดไปมาก แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นไปอีกจะเกิดภาวะอุณหภูมิสูงเกิน (Hypothermia) ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางทำหน้าที่ผิดไปได้ แต่ถ้าอุณหภูมิกายลดลงจะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะอุณหภูมิต่ำ (Hypothermia) ซึ่งจะทำให้การทำงานของระบบประสาทลดลง
ระบบการวัดความดันโลหิต
1. ระบบหมุนเวียนโลหิต (Cardio Vascular System)
ในระบบหมุนเวียนโลหิต สามารถแบ่งส่วนใหญ่ ๆ ได้ 2 ส่วน คือ หัวใจ (Cardiac) ซึ่งทำงานเป็นเสมือนแหล่งจ่ายกำลังงานให้โลหิต และอีกส่วนหนึ่งได้แก่ หลอดโลหิต (Bascular) ซึ่งเป็นทางผ่านของโลหิตไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายขณะเดียวกันก็เป็นไฮดรอลิดโหลดแก่ระบบด้วยพลังไฮดรอลิดซึ่งใช้ขับดันโลหิตผ่านไปยังส่วนต่างของร่างกายได้มาจากการบีบตัวของ กล้ามเนื้อหัวใจทุกๆ ครั้งของการเต้นของหัวใจเปรียบได้กับปั๊ม เราสามารถควบคุมโลหิตให้ ไหลผ่านเข้าและขับออกไปโดยตรงควบคุมการเปิด – ปิด ของลิ้นหัวใจ ช่วงการฉีดโลหิตจากหัวใจเรียกว่า Systole และช่วงการสูบโลหิตเข้ามาเรียกว่า Diastole
2. รูปคลื่นแรงดันโลหิต
การไหลของโลหิตในระบบมีลักษณะเป็นห้วงๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจความดันที่เอาต์พุตของ Ventricle ซ้าย (Aorta) แสดงดังรูป
จากรูปคลื่นแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงความดันในช่วง 80 มม. ปรอท ซึ่งเป็นแรงดันต่ำสุด หรือ Diastolic Pressure และ 120 มม. ปรอทซึ่งเป็นแรงดันสูงสุดหรือ Systolic Pressure ความแตกต่างของแรงดันสูงสุด และต่ำสุดเรียกว่า Pulse Pressure ซึ่งในกรณีนี้เท่ากับ 40 มม. ปรอท และแรงดันเฉลี่ย (Mean Pressure) คือ ผลบวกของแรงดันสูงสุดบวกกับ 2 เท่าของแรงดันสุดท้ายหารด้วยสาม ความดันในออร์ต้า ทำให้โลหิตไหลผ่านระบบหมุนเวียน และเมื่อโลหิตไหลในระบบหมุนเวียนจะมีผลสองสิ่งที่ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงบนรูปคลื่น สิ่งแรกคือหลอดโลหิตทั้งหมดจะมีความต้านทานการไหลเท่าใด แรงดันจะลดลงตามระยะทาง ผลประการที่สองที่มีต่อรูปคลื่นเป็นผลจากการที่โลหิตมีแรงเฉื่อย และการยืดหยุ่นตัวของหลอดโลหิต ในทางวงจรไฟฟ้าแรงเฉื่อย และการหยุ่นตัวของหลอดโลหิตเทียบได้กับค่าอินดัคแตนซ์ที่อนุกรมในวงจรและค่าคาปาซิแตนซ์ที่ขนานอยู่ตามลำดับ ผลของแรงเฉื่อยและการหยุ่นตัวของหลอดโลหิตต่อรูปคลื่นความดัน เมื่อโลหิตเคลื่อนผ่านเข้าหลอดโลหิต จะเปรียบได้กับผลของฟิลเตอร์ RLC ที่เกิดขึ้นกับรูปคลื่นสัญญาณ ไฟฟ้า
3. การวัดความดันโลหิต
เป็นแรงดันของโลหิตที่กระทบกับผนังของหลอดโลหิตแดงเมื่อไหลผ่านเป็นจังหวะความดันของโลหิตที่วัดมี 2 อย่างคือ ความดันซิสตอลลิค (Systolic Pressure) ซึ่งเป็นความดันที่เกิดจากการหดตัวของหัวใจด้านล่างซ้าย เพื่อฉีดโลหิตออกจากหัวใจจึงเป็นความดันที่สูงสุด สำหรับความดัน ไดแอสโตลิค (Diastolic Pressure) เป็นความดันที่วัดเมื่อหัวใจห้องด้านล่างซ้ายพัก จึงเป็นความดันที่ต่ำสุดและจะอยู่ในระดับนี้ตลอดเวลาภายในโลหิตแดง ความแตกต่างระหว่างความดันซิสตอลลิคกับความดันไดแอสโตลิค เรียกว่า ความดันชีพจร (Pulse Pressure)
การวัดความดันโลหิตเป็นการวัดถึงการทำงานของหัวใจและแรงต้านทานส่วนปลายของหลอดโลหิตการวัดความดันโลหิตจะวัดเป็นมิลลิเมตรปรอท (mm.Hg.) ซึ่งหมายถึงแรงดันปรอทขึ้นไปสูงกว่าความดันของบรรยากาศเป็นจำนวนกี่มิลลิเมตร ในผู้ใหญ่จะมีความดันโลหิตอยู่ระหว่าง 120/80 มิลลิเมตรปรอท ความดันโลหิตอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากปกติได้ ซึ่งเป็นไปได้ 2 ทางด้วยกัน คือ 1) ความดันโลหิตสูง (Hipertention) โดยทั่วไปให้ถือว่าความดันซิสตอลลิคสูงเกิน 140 มิลลิเมตรปรอทและหรือความดันไดแอสโตลิคสูงเกิน 90 มิลลิเมตรปรอท 2) ความดันโลหิตต่ำ (Hipotention) โดยทั่วไปให้ถือว่าความดันโลหิตซิสตอลลิคต่ำกว่า 100 มิลลิเมตรปรอท
4. ปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิต
1) ปัจจัยด้านอายุ เด็กแรกเกิดจะมีความดันซิสตอลลิคประมาณ 40 – 70 มิลลิเมตรปรอท ในผู้ใหญ่ปกติจะมีความดันซิสตอลลิคระหว่าง 110 – 140 มิลลิเมตรปรอทและความดันไดแอสตอลลิคระหว่าง 60 – 80 มิลลิเมตรปรอท ผู้สูงอายุความดันจะสูงขึ้นเนื่องจากความยืดหยุ่นของหลอดโลหิตลดลง
2) ปัจจัยด้านการออกกำลังกายการออกกำลังกายเป็นการเพิ่มจำนวนโลหิตซึ่งถูกฉีดออกจากหัวใจ ทำให้ความดันสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยที่มีความดันสูงจำเป็นต้องให้พักมากๆ
3) ปัจจัยด้านความเครียดทางอารมณ์และร่างกาย ความเครียดทางอารมณ์ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ความเครียดทางร่างกาย เช่น อาการปวดรุนแรงพอประมาณจะมีผลทำให้เพิ่มความดันโลหิตสูง โดยทั่วไปกระตุ้นระบบประสาท ซิมพาทีติค ผลคือจะไปเพิ่มจำนวนโลหิตที่ออกจากหัวใจและทำให้หลอดโลหิตแดงรองหดตัว แต่ถ้าหากมีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือเกิดภาวะช็อค ศูนย์บังคับหลอดโลหิตจะถูกยับยั้งทำให้หลอดโลหิตขยายตัว ซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลง
4) ปัจจัยด้านอื่นๆ
4.1) ปัจจัยที่เกี่ยวกับเพศ หลังจากพ้นระยะวัยรุ่นไปแล้วพบว่าเพศชายจะมีความดันโลหิตสูงกว่าหญิงเล็กน้อย
4.2) ปัจจัยที่เกี่ยวกับรูปร่าง คนอ้วนความดันโลหิตสูงกว่าคนผอม
4.3) ปัจจัยที่เกี่ยวกับประเภทของโรค โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียน และโรคไตจะทำให้ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับหัวใจจะทำให้ความดันโลหิตต่ำ
4.4) ปัจจัยที่เกี่ยวกับการใช้ยา ยาที่มีผลต่อการหดรัดตัวของหลอดโลหิตจะทำให้ความดันโลหิตสูงตรงข้ามกับยาขยายหลอดโลหิตจะทำให้ความดันโลหิตต่ำ
4.5) ปัจจัยที่เกี่ยวกับท่าทาง หากอยู่ในท่านอน ความดันโลหิตจะต่ำกว่าในท่านั่งหรือยืน
4.6) ปัจจัยที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม อาหาร และเครื่องดื่มบางชนิดจะเพิ่มความดันและบางชนิดลดความดัน
5. การวัดความดันโลหิต
การวัดความดันโลหิตในห้องหัวใจ และในหลอดโลหิต จะทำให้แพทย์ทราบถึงฟังก์ชั่นการทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิต โดยดูจากขนาด และรูปคลื่น การวัดความดันโลหิตกระทำได้ 3 แบบคือแบบโดยตรง (Direct หรือ Invasive) แบบโดยอ้อม (Indirect หรือ Non Invasive) และแบบสัมพันธ์ (Relative หรือ Uncalibrated Indirect)
1) การวัดแรงดันโลหิตแบบโดยตรง สำหรับการวัดความดันโลหิตในหลอดโลหิตความดันภายในหลอดโลหิต จะส่งผ่านโลหิตที่บรรจุเต็มในแคทิเตอร์ และส่งแรงดันผ่านไปยังไดอะแฟรม ซึ่งเป็นแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ แรงดันที่ส่งผ่านไดอะแฟรมจะถูกเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าโดยทรานสดิวเซอร์ความดัน หรือนำไปเข้า มาโนมิเตอร์ ที่ใช้น้ำเกลือเป็นตัวส่งผ่านแรงดัน การตอบสนองความถี่ของการวัดโดยวิธีนี้ จะถูกจำกัดที่ตัวแคทิเตอร์เอง และการที่มีฟองอากาศอยู่ภายในแคทิเตอร์ ตลอดจนคุณสมบัติของสารที่ใช้ทำไดอะแฟรม และชนิดของ ทรานสดิวเซอร์ที่ใช้
2) การวัดความดันโลหิตทางอ้อม การวัดแรงดันโลหิตทางอ้อมจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Sphygmomanometer จะถูกอัดอากาศเข้าไปโดยการบีบลูกยางซึ่งแรงดันในคัฟจะไปกดหลอดโลหิตแดงทำให้โลหิตหยุดไหล โดยปกติการอัดอากาศเข้าไปจะให้ความดันในคัฟอยู่สูงกว่าแรงดันสูงสุดที่คาดว่าจะมีในเส้นโลหิตนั้น แล้วค่อยๆ ลดความดันในคัฟลงอย่างช้าๆ และเมื่อความดันในคัฟลดลงเท่าแรงดันสูงสุดในหลอดโลหิตจึงทำให้โลหิตเริ่มฉีดผ่านไปได้ การที่โลหิตฉีดผ่านหลอดโลหิตแคบๆ จะทำให้เกิดเสียงของการฉีดขึ้นเรียกว่าเสียง Korot Koff ซึ่งสามารถฟังได้โดยใช้สเต็ตโตสโคป และเมื่อทำการลดความดัน ในคัฟต่อไปจนแรงดันเท่ากับแรงดันต่ำสุดเสียง Korot Koff จะหายไป และโลหิตจะเริ่มไหลได้ตามปกติ แรงดันในคัฟที่อ่านได้เกิดเสียง Korot Koff ครั้งแรกจะใกล้เคียงกับแรงดัน ซีสโตล และแรง-ดันที่ผ่านได้เมื่อได้ยินเสียง Korot Koff สุดท้ายจะใกล้เคียงกับแรงดันไดแอสโตล
รูป การวัดแรงดันโลหิตโดยอ้อม
รูปลักษณะของเครื่องวัดความดันโลหิตทางอ้อม
3) การวัดความดันโลหิตแบบสัมพันธ์
หลักการของการวัดความดันโลหิตแบบสัมพันธ์ คือการวัดแรงดันภายนอกผิวหนังที่ส่งผ่านมาจากแรงดันของโลหิต ในหลอดโลหิตผ่านผนังหลอดโลหิต และผิวหนังเรียกหลักการนี้ว่า โทโนมิเตอร์ ความดันโลหิตจะเป็นสัดส่วนกับแรงกดบน Arterial Rider หารด้วยพื้นที่หน้าตัด จากลักษณะของ โทโนมิเตอร์จะเห็นว่าความดันที่อ่านได้จะมากกว่าความดันในหลอดโลหิตเสมอทั้งนี้เพราะจะมีแรงกดโดยผิวหนังเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นการวัดความดันด้วยวิธีนี้ จะต้องทำการ คาริเบตเป็นราย ๆ ไปก่อนเพื่อให้การวัดได้ค่าที่ถูกต้อง การใช้งานทั่วไปจะใช้แบบทางอ้อม โดยที่พันแขนสำหรับเครื่องวัดความดันมีขนาดต่างกัน ของผู้ใหญ่จะกว้างประมาณ 12 – 14 เซนติเมตร สำหรับของเด็กจะเล็กกว่า คือ เด็กอายุ 7 – 12 ปี กว้างประมาณ 9 – 10 เซนติเมตร เด็กอายุ 2 – 6 ปีกว้างประมาณ 7 – 8 เซนติเมตร เด็กอายุขวบปีแรกกว้างประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร บางชนิดใช้ขอเกี่ยวบางชนิดใช้พันแล้วม้วนเหน็บไว้ บางชนิดเป็นเทปสักหลาด เครื่องวัดความดันบางชนิดเป็นเครื่องไฟฟ้า ซึ่งไม่ต้องใช้เครื่องฟังตรวจ ตัวเลขของ ความดันจะปรากฎบนจอภาพเหมาะสำหรับผู้ป่วยหนักที่ต้องตรวจสอบอยู่บ่อยๆ ในการวัดความดันที่ต้องใช้เครื่องฟังตรวจนั้น พยาบาลจะได้ยินเสียงเป็นลำดับ ครั้งแรกเมื่อพันแขนด้วยผ้าพันแขนแล้วบีบลมเข้าจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียงแสดงว่าโลหิตหยุดไหลผ่าน หลอดโลหิตแดง เมื่อปล่อยความดันลมออกความดันในผ้าพันแขนจะลดลงจนกระทั่งโลหิตไหลผ่านอีก ณ จุดที่เสียงดังเริ่มแรกนั้นเป็นจุดที่หัวใจห้องล่างด้านซ้ายหดรัดตัวฉีดโลหิต เสียงที่ได้ยินครั้งแรกเรียกว่าความดันซิสตอลลิค ในขณะที่ความดันในผ้าพันแขนลดลงเสียงจะเปลี่ยนไปไม่ชัดเจนและในที่สุดจะเงียบไป ซึ่งถือว่าเป็นความดันในหลอดโลหิตแดงในขณะที่หัวใจห้องล่างด้านซ้ายพัก จุดที่เสียงเริ่มเปลี่ยน หรือจุดที่เสียงเงียบหายไปคือจุดแสดงความดันไดแอสตอลลิค ในขณะที่หลอดโลหิตแดงปกติ ความดันไดแอสโตลิคที่แท้จริงจะอยู่ต่ำกว่าจุดเริ่มเปลี่ยนแปลงเสียง 10 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งก็เป็นตำแหน่งเดียวกับที่เสียงหายไป สำหรับผู้ป่วยซึ่งมีหลอดโลหิตแดงกระด้างเสียงจะเริ่มเปลี่ยนไป หลังจากถึงจุดความดันไดแอสโตลิคแล้วเล็กน้อย โดยสรุปในการวัดความดันโลหิตให้ถือปฏิบัติดังนี้คือ
3.1) ความดันซิสตอลลิค จุดแรกเมื่อเริ่มได้ยินเสียงครั้งแรก
3.2) ความดันไดแอสโตลิค จุดสุดท้ายที่เสียงเริ่มเปลี่ยนหรือเสียงหายไป ตำแหน่งที่วัดความดันโลหิตโดยทั่วๆ ไปวัดที่หลอดโลหิตแดงที่ข้อพับแขน (Brachial Artery) หากมีเหตุจำเป็นวัดบริเวณนี้ไม่ได้ ให้วัดที่หลอดโลหิตแดงที่ข้อพับเข่า (Popliteal Artery)
การตรวจจับชีพจร
ชีพจรเป็นแรงสะเทือนของกระแสโลหิต ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจห้องล่างด้านซ้าย ทำให้ผนังของหลอดโลหิตแดงขยายออกเป็นจังหวะ เป็นผลให้สามารถจับชีพจรได้ตลอดเวลาบริเวณที่สัมผัสได้ คือส่วนผิวของร่างกายที่มีหลอดโลหิตแดงผ่านเหนือหรือข้างๆ กระดูก โดยมากเรียกชื่อชีพจรตามตำแหน่งของหลอดโลหิตที่จับได้
รูป ที่อยู่ของชีพจรในร่างกาย
สิ่งที่ต้องสังเกตในการจับชีพจร
อัตราความเร็วของชีพจร หมายถึง อัตราการเต้นของหัวใจต่อ 1 นาที มีปัจจัยต่างๆที่ทำให้อัตราความเร็วของหัวใจแตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้ คือ
1) ปัจจัยที่เกี่ยวกับอายุ สามารถแสดงอัตราการเต้นของชีพจรเป็นจำนวนครั้ง/นาที โดยเทียบตามอายุหรือวัย
2) ปัจจัยที่เกี่ยวกับเพศ ผู้หญิงจะมีความเร็วกว่าชายเล็กน้อยในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
3) ปัจจัยที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย โดยปกติชีพจรจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกายเนื่องจากในระหว่างการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น จึงทำให้การเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นเพื่อจะได้นำออกซิเจนไปกับกระแสโลหิต
4) ปัจจัยที่เกี่ยวกับอารมณ์ อัตราการเต้นของหัวใจขึ้นอยู่กับระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งมี 2 ส่วน คือ ระบบประสาทซิมพาทีติค และพาราซิมทีติค อารมณ์ที่เกิดขึ้นเช่น ความกลัว ความโกรธ ความวิตกกังวล การรับรู้ความเจ็บปวด จะไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาทีติคทำให้หัวใจ บีบตัวเร็วขึ้นสำหรับการกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมทีติคทำให้หัวใจเต้นช้าลง เช่น ดิจิทาลิส มักใช้ในรูปของ มักใช้ในรูปของยาเพื่อกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาทีติค โดยเฉพาะประสาท เวกัส หากหัวใจเต้นเร็วเกิน 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไปในผู้ใหญ่ ถือว่าชีพจรเต้นเร็ว ในทางตรงกันข้ามถ้าหัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที ถือว่าชีพจรเต้นช้า
5) ปัจจัยที่เกี่ยวกับอุณหภูมิความร้อน การนำความร้อนมาใช้ภายนอกร่างกายเป็นเวลานานๆ ก็เช่นเดียวกับ ความร้อนที่เกิดขึ้นในร่างกายคือมีไข้ขึ้นนั้น จะทำให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้น และ ชีพจรจะเร็วขึ้นเมื่อความดันของโลหิตลดลงจากผลของหลอดโลหิตส่วนปลายขยายออกเมื่อถูก ความร้อน
6) ปัจจัยที่เกี่ยวกับการใช้ยา ยาบางชนิดลดอัตราความเร็วของชีพจรและบางชนิดเพิ่มอัตราความเร็วของชีพจร
7) ปัจจัยที่เกี่ยวกับการตกโลหิต การสูญเสียโลหิตจากระบบหลอดโลหิตประมาณ 10% ของจำนวนโลหิตทั้งหมด (จำนวนโลหิตทั้งหมดในระบบหลอดโลหิตของผู้ใหญ่มีประมาณ 5 ลิตร) จะทำให้ชีพจรเร็วขึ้น
8) ปัจจัยที่เกี่ยวกับการใช้ท่าทาง เมื่ออยู่ในท่ายืนชีพจรจะเร็วกว่าเมื่ออยู่ในท่านั่งหรือนอน ทั้งนี้เพราะหัวใจต้องบีบตัวให้เร็วขึ้นเพื่อฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย
9) ปัจจัยเกี่ยวกับจังหวะชีพจร ชชีพจรจะเต้นเป็นจังหวะ มีช่วงพักระหว่างจังหวะแต่ละช่วงพักใช้เวลาเท่ากัน ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ชีพจรสม่ำเสมอ ส่วนชีพจรที่เต้นไม่เป็นจังหวะแต่ละช่วงพักไม่สม่ำเสมอเรียกว่าชีพจรไม่สม่ำเสมอ
10) ปัจจัยเกี่ยวกับปริมาตรชีพจร ขึ้นอยู่กับแรงของโลหิตในการกระทบชีพจรปกติรู้สึกได้ด้วยการกดนิ้วลงตรงบริเวณที่จะวัดด้วยแรงพอประมาณ แต่ถ้ากดแรงมากไปจะไม่ได้รับความรู้สึก ถ้าแรงดันโลหิตดีชีพจรจะแรง แรงดันโลหิตอ่อนชีพจรจะเบา
11) ปัจจัยเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของผนังของหลอดโลหิตแดง ปกติผนังของหลอดโลหิตจะตรงและเรียบ มีความยืดหยุ่นดี ในคนที่สูงอายุผนังหลอดโลหิตแดงมีความยืดหยุ่นน้อย ขรุขระ และไม่สม่ำเสมอ
ขอบคุณผู้เขียน : จักรกฤษณ์ แร่ทอง http://www.nextproject.net/contents/?00009