ความรู้คืออะไร?
ความรู้นั้นก็มีอยู่ 2 ชนิดคือ
1. ความรู้ที่ฝังอยู่ในสมอง ( Tacit Knowledge ) อาจเรียกง่ายๆ ว่า ความรู้ในตัวคน ได้แก่ ความรู้ที่เป็นทักษะ ประสบการณ์ ความคิดริเริ่ม พรสวรรค์ หรือสัญชาติญาณของบุคคลในการทำความเข้าใจ สิ่งต่างๆ บางครั้งเรียกว่าความรู้แบบนามธรรม
2. ความรู้ที่ชัดแจ้ง ( Explicit Knowledge ) อาจเรียกว่าความรู้นอกตัวคน เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่างๆ เช่นการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นหนังสือ ตำราเอกสาร กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติงาน เป็นต้น บางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม
ความรู้ (Knowledge) คือ อะไร?
ความรู้ คือ สารสนเทศที่นำไปสู่การปฏิบัติ เป็นเนื้อหาข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ทฤษฎี หลักการ รูปแบบ กรอบความคิด หรือข้อมูลอื่นๆ ที่มีความจำเป็น และเป็นกรอบของการผสมผสานระหว่างประสบการณ์ ค่านิยม ความรอบรู้ในบริบท สำหรับการประเมินค่า และการนำเอาประสบการณ์กับสารสนเทศใหม่ ๆ มาผสมรวมเข้าด้วยกัน
ชั้นของความรู้เป็นอย่างไร?
ข้อมูล (Data) เป็น ข้อมูลดิบที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการประมวลผล หรือเป็นกลุ่มของข้อมูลดิบที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน
สารสนเทศ (Information) เป็น ข้อมูลที่ผ่านกระบวนการประมวลผลโดยรวบรวมและสังเคราะห์เอาเฉพาะข้อมูลที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่องานที่ทำ
ความรู้ (Knowledge) เป็น ผลจากการขัดเกลาและเลือกใช้สารสนเทศ โดยมีการจัดระบบความคิด เสียใหม่ให้เป็น “ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง”
ความเฉลียวฉลาด (Wisdom) เป็น การนำเอาความรู้ต่าง ๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ
เชาวน์ปัญญา (Intelligence) เป็น ผลจากการปรุงแต่งและจดจำความรู้และใช้ความเฉลียวฉลาดต่าง ๆในสมอง ทำให้เกิดความคิดที่รวดเร็วและฉับไว สามารถใช้ความรู้และความเฉลียวฉลาดโดยใช้ช่วงเวลาสั้นกว่า
กุญแจสำคัญของการจัดการองค์ความรู้
กุญแจสำคัญที่จะทำให้การจัดการองค์ความรู้นั้นประสบผลสำเร็จ ประกอบด้วย วัฒนธรรมองค์กร (Organizational culture) ผู้บริหารที่เป็นผู้อุปถัมภ์ (Executive sponsorship) และเป็นผู้ผลักดันการทำงาน การกำหนดเกณฑ์ในการวัดผลสำเร็จ (Measuring success)
ในอนาคตอาจจะมีซอฟต์แวร์ KM packages ที่ได้มาตรฐานครอบคลุมการทำงานขององค์กร วางจำหน่าย
วัตถุประสงค์ของการจัดการองค์ความรู้ (KM Objectives)
การจัดการองค์ความรู้ มีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้
1. เพื่อสร้างระบบจัดเก็บองค์ความรู้ (Create knowledge repositories)
2. เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงองค์ความรู้ (Improve knowledge access)
3. เพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมขององค์ความรู้ให้ดีขึ้น (Enhance the knowledge environment)
4. เพื่อจัดการองค์ความรู้ให้เป็นทรัพย์สินที่มีค่า และมีประโยชน์ (Manage knowledge as an asset)
ที่เก็บองค์ความรู้ (Knowledge Repository)
เป็นที่เก็บหรือที่รองรับองค์ความรู้ หรือเรียกว่า “คลังองค์ความรู้” เป็นที่สำหรับเก็บรวบรวมองค์ความรู้จากภายในและภายนอกองค์กรเก็บไว้ในคลังข้อมูลกลาง
ขั้นตอนในการจัดการองค์ความรู้ (KM Activities)
1. Externalization เป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้จากแหล่งภายนอก มาจัดรูปแบบ
2. Internalization จัดรูปแบบองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้เป็นรูปแบบ (Format) ภายใน คือ การจำแนกองค์ความรู้แบบมีโครงสร้าง (Explicit Knowledge) ให้ตรงกับความต้องการใช้งาน ผนวกเข้ากับองค์ความรู้ที่มาจากภายนอก (Externalization)
3. Intermediation การเชื่อมต่อกับองค์ความรู้ จะเป็นสื่อกลางที่ผู้ใช้ จะใช้ในการเข้าถึงหรือค้นหาองค์ความรู้ สื่อกลางส่วนมากจะเป็นเทคโนโลยี เช่น Internet, Groupware หรือ Workflow เป็นต้น
4. Cognition กระบวนการรับรู้ คือ กระบวนการรับองความรู้และประยุกต์ใช้งาน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้